ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้าวไทยเจอ 2 เด้ง “น้ำท่วม-จำนำข้าว” ระวัง! สูญส่วนแบ่งตลาดให้ “อินเดีย-เวียดนาม”

ข้าวไทยเจอ 2 เด้ง “น้ำท่วม-จำนำข้าว” ระวัง! สูญส่วนแบ่งตลาดให้ “อินเดีย-เวียดนาม”

24 ตุลาคม 2011


ผลผลิตข้าวปี 2554 อาจหายไปกับภัยน้ำท่วมถึง 6 ล้านตัน ที่มา : http://cdn.theatlantic.com/static/infocus/thaiflood101211/s_t04_29029620.jpg

อุทกภัยในปี 2554 ถือเป็นหายนะจากภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายรุนแรงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับอุทกภัยในอดีต ซึ่งหนึ่งในความสูญเสียที่เกิดขึ้นแล้วอาจสั่นคลอนความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดสินค้าเกษตรโลกได้ในอนาคต หากปราศจากการจัดทำแนวทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว

ข้าวจมน้ำ

ในช่วงต้นเดือนตุลาคม นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ว่า ในเบื้องต้นมีพื้นที่การเกษตรเสียหายมากกว่า 8.5 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนั้น เป็นนาข้าว 7 ล้านไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ประมงและปศุสัตว์ ใน 63 จังหวัด

แต่ความเสียหายในภาคเกษตรอาจไม่หยุดอยู่แค่นี้ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ แสดงความกังวลว่า ความเสียหายมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดรับกับข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา พื้นที่เกษตรที่คาดว่า จะได้รับความเสียหายขยับขึ้นเป็น 10.7 ล้านไร่ แยกเป็นนาข้าว 8.8 ล้านไร่ พืชไร่ 1.5 ล้านไร่ พืชสวนและอื่นๆ 4.61 แสนไร่

ในด้านประมง มีพื้นที่ได้รับความเสียหายเกือบ 4 แสนไร่ครอบคลุมบ่อเลี้ยงปลา กุ้ง/ปู/หอย รวมถึงกระชังและซีเมนต์ เช่นเดียวกับปศุสัตว์ที่มีสัตว์ได้รับผลกระทบ 12.6 ล้านตัว

ความเสียหายด้านการเกษตรได้แผ่ขยายจาก 63 จังหวัดเป็น 67 จังหวัด

ในอีกด้านหนึ่ง กระทรวงพาณิชย์ได้ประเมินความเสียหายจากนาข้าวที่ได้รับผลกระทบว่าอาจทำให้ผลผลิตข้าวลดลงไปปริมาณ 8-9 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 5-6 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากน้ำท่วมได้ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง

ปฏิเสธไมได้ว่า ความเสียหายของนาข้าวได้เริ่มกระทบต่อแผนการส่งออกข้าวของประเทศในระยะสั้น โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 และต่อเนื่องไปจนถึงปี 2555 ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันก่อนหน้านี้ว่าอาจมียอดรวมการส่งออกข้าวลดลงราว 20 % อันเนื่องมาจากราคาส่งออกของไทยที่มีราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่ง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรคาดการณ์ในช่วงปลายเดือนเมษายนว่า แนวโน้มการส่งออกข้าวปี 2554 อาจสูงกว่าเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ 9.5ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะยอดการส่งออก 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม) สามารถส่งออกได้แล้ว 3 ล้านกว่าตันหรือเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน

ปริมาณการส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกเป็นผลมาจากความต้องการข้าวตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังจากหลายประเทศประสบภัยธรรมชาติ

ไทยยังสามารถทำยอดการส่งออกข้าวในดีในช่วง 8 เดือนแรกของปี โดยในเดือนมกราคม – สิงหาคม 2554 การส่งออกข้าวเบื้องต้นมีประมาณ 8.22 ล้านตัน มูลค่า 4,665 ล้านดอลลาร์ (140,820 ล้านบาท) ปริมาณเพิ่มขึ้นจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน 55.4 % และมูลค่าเพิ่มขึ้น 49.7 % ตามลำดับ ในขณะที่ ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 568 ดอลลาร์ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.4 % ทั้งนี้ ปริมาณข้าวที่ส่งออกทั้งหมดแยกเป็นข้าวหอมมะลิไทย 1.619 ล้านตัน มูลค่า 1,295 ล้านดอลลาร์ (39,039 ล้านบาท) หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.7 % และ 27.8 % ของปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด

ส่งออกข้าวเจอ 2 เด้งน้ำท่วม-แพงกว่าคู่แข่ง

กระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้ ไทยเพิ่งสูญเสียออร์เดอร์ส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซีย 300,000 ตัน หลังรัฐบาลประกาศเมื่อวันที่ 27 กันยายนจะไม่ลงนามในข้อตกลงจัดหาข้าวให้อินโดนีเซีย ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยอ้างว่า ราคาส่งออกข้าวให้อินโดนีเซียต่ำกว่าราคาภายใต้โครงการรับจำนำข้าวที่เริ่มเปิดรับจำนำตั้งแต่ 7 ตุลาคม 2554

การยกเลิกข้อตกลงขายข้าวส่งผลให้อินโดนีเซียต้องแสวงหาผู้ขายรายใหม่ จากรายงานข่าวของสำนักข่าวเบอร์นามา รัฐบาลอินโดนีเซียเพิ่งทำข้อตกลงนำเข้าข้าว 700,000 ตันจากเวียดนามแล้ว ส่งผลให้ออร์เดอร์นำเข้าข้าวจากเวียดนามในปี 2554 เพิ่มเป็น 1.2 ล้านตันในช่วงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

อินโดนีเซียได้ลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่เพื่อนำเข้าข้าว 700,000 ตัน จากเวียดนามเพิ่มเติมจากข้อตกลงฉบับก่อนหน้าที่อินโดนีเซียตกลงซื้อข้าวจากเวียดนาม 500,000 ตัน โดยข้าวล็อตแรก 500,000 ตันจากเวียดนามจะมีการส่งมอบในเดือนธันวาคมและอีก 700,000 ตันกำหนดจะส่งมอบระหว่างเดือนมีนาคมถึงเมษายนปีหน้า

รายงานข่าวจากเบอร์นามายังระบุด้วยว่า รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างหารือกับเวียดนามเพื่อทำข้อตกลงซื้อข้าวเพิ่มอีกในอนาคต แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมาในขณะนี้

การสั่งซื้อข้าวจากอินโดนีเซียทำให้เวียดนามมีแนวโน้มจะบรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าว 7 ล้านตันในปี 2554 อย่างแน่นอนแล้ว หลังจากนับถึงสิ้นเดือนกันยายน เวียดนามส่งออกข้าวได้ทั้งหมด 5.87 ล้านตัน ทำรายได้ 2,810 ล้านดอลลาร์ ขณะเซ็นสัญญาซื้อขายไปแล้วทั้งสิ้น 6.8 ล้านตัน และจะส่งออกอีก 1.1 ล้านตันในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

ดัดแปลงจาก http://www.irishweatheronline.com/news/environment/agriculture/thailand-rice-production-programme-pushes-global-prices-upwards/41168.html

การขยับราคาส่งออกข้าวของไทยอาจมีผลต่อการตัดสินใจของประเทศอื่นๆ ด้วย ดังที่สำนักข่าวรอยเตอร์สอ้างคำคาดการณ์ของนางกอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ซึ่งระบุว่า การส่งออกข้าวในปี 2555 คาดว่าจะต่ำกว่าที่ตัวเลขประมาณการของกระทรวงเกษตรสหรัฐ โดยมีแนวโน้มว่า การส่งออกในปีหน้าอาจลดลงประมาณ 20 % อันเนื่องมาจากผลกระทบทางด้านราคาจากคู่แข่งที่เสนอราคาต่ำกว่า

ที่ผ่านมา นโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรได้ส่งผลให้ข้าวขาว 100 % เกรดบี ขยับราคาขึ้นไปถึง 680 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่ข้าวของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 595 ดอลลาร์ต่อตัน เปรียบเทียบกับราคาข้าวของอินเดียที่กำลังเข้าสู่ตลาดมีราคาระหว่าง 400-450 ดอลลาร์ต่อตัน

คาดอินเดียคว้าออร์เดอร์ข้าวปี’55

แม้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2554 ไทยได้สูญเสียตลาดข้าวบางส่วนให้กับเวียดนาม แต่ในปี 2555 คู่แข่งที่น่ากลัวและต้องระวังมากเป็นพิเศษกลับเป็นอินเดีย

ประการแรก มาจากการกลับสู่ตลาดข้าวอีกครั้งของอินเดีย หลังจากรัฐบาลอินเดียอนุมัติให้ส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ (Non Basmati Rice) ซึ่งก่อนหน้านี้หยุดส่งออกข้าวมาตั้งแต่ปี 2552 โดยจะเริ่มการส่งออกข้าวครั้งใหม่ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป

อ้างอิงบทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ข้าวจำนวน 1.8 ล้านตันของอินเดียจะส่งออกผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ เอกชนเป็นผู้ส่งออก 1 ล้านตัน รัฐบาลจำหน่ายให้บังคลาเทศ 3 แสนตัน และจำหน่ายผ่านระบบรัฐบาลต่อรัฐบาลอีก 5 แสนตัน โดยกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของข้าวขาวตันละ 400 ดอลลาร์ และราคาข้าวนึ่ง 450 ดอลลาร์ต่อตัน

การกลับมาส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติของอินเดียในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวขาวและข้าวนึ่งของไทย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2554 ซึ่งในส่วนของข้าวขาวนับเป็นการเพิ่มความรุนแรงในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด จากเดิมที่ผู้ส่งออกข้าวขาวของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม ผู้ส่งออกของไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบในเรื่องราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าคู่แข่ง

เช่นเดียวกับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดข้าวนึ่ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเตือนว่า อาจส่งผลกระทบต่อตลาดค่อนข้างมากต่อฐานะผู้ส่งออกที่ครอบครองตลาดข้าวนึ่งของไทยและประเด็นที่จะต้องติดตามต่อไปคือ ในปี 2554-2555 ถ้าสภาพอากาศปกติเอื้ออำนวยให้อินเดียสามารถผลิตข้าวได้มากพอสำหรับการส่งออก อินเดียน่าจะกลับมาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของไทยด้านการส่งออกทั้งข้าวขาวและข้าวนึ่ง

ก่อนหยุดส่งออกข้าวเมื่อ 3 ปีก่อน อินเดียถือเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งในปีนี้มีข้าวที่พร้อมรอเก็บเกี่ยวอีกอย่างน้อย 87 ล้านตันและมีข้าวในสต็อกอยู่อีก 22.7 ล้านตัน ซึ่งนอกเหนือจากข้าวเกือบ 2 ล้านตันที่จะเข้าสู่ตลาดแล้ว ยังมีข้าวอีก 5 ล้านตันที่อินเดียกันไว้สำหรับการส่งออกเพิ่มเติมด้วย โดยประเทศเป้าหมายการส่งออกของข้าวอินเดีย ได้แก่ บังคลาเทศและไนจีเรีย

บางส่วนของสต็อกข้าวจำนวนมหาศาลที่จัดเก็บอยู่ในโรงสีต่างๆ ของอินเดีย
ที่มา : http://www.thehindubusinessline.com/multimedia/dynamic/00735/rice1_735463f.jpg

ประการที่สอง ท่าทีของประเทศผู้ซื้อต่อราคาข้าว โดยปัจจุบัน ตลาดส่งออกที่ไทยถือครองส่วนแบ่งมากกว่า 50% ของปริมาณนำเข้าข้าวของแต่ละประเทศ ได้แก่ ไนจีเรีย อเมริกาใต้ เบนิน ไอวอรี่โคสต์ สหรัฐอเมริกา เซเนกัล โตโก อิสราเอล คองโกและลาว อีกทั้งยังมีตลาดส่งออกอื่นๆ อีก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน เยเมน ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มอริตาเนีย คาเมรูนและโตโก หากไม่นับรวมอินโดนีเซีย ซึ่งไทยเพิ่งเสียออร์เดอร์ประเภทรัฐบาลต่อรัฐบาลไปในปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีประเทศผู้ซื้อข้าวบางรายเริ่มปฏิกิริยาต่อราคาข้าวที่แพงขึ้นบ้างแล้ว ดังกรณีของฟิลิปปินส์ที่ประธานาธิบดีเบนิโย อากวิโนออกมายืนยันว่า ฟิลิปปินส์ยังไม่จำเป็นต้องนำเข้าข้าวเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ แม้พายุไต้ฝุ่นในช่วงที่ผ่านมาจะกระทบต่อข้าวเปลือกให้เสียหายแล้วราว 1 ล้านตัน

ตลาดข้าวอีกประเทศหนึ่งที่ต้องจับตาคือ สิงคโปร์ ซึ่งนำเข้าข้าวจากไทยคิดเป็น 40 % ของปริมาณข้าวนำเข้าทั้งหมดว่า จะมีปฏิกิริยาต่อราคาข้าวของไทยที่ปรับขึ้นไปอย่างไร ประกอบกับนอกเหนือจากนำเข้าข้าวจากไทยแล้ว สิงคโปร์ยังมีทางเลือกในการนำเข้าข้าวจากประเทศอื่น อาทิ เวียดนาม อินเดีย พม่า สหรัฐอเมริกา และจีน

หลากปัญหาฉุดข้าวไทยระยะยาว?

ก่อนหน้านี้ นโยบายรับจำนำข้าวที่ตั้งราคารับจำนำไว้สูงมากถึงตันละ 15,000 – 20,000 บาท เคยถูกตั้งคำถามมาแล้วจากผู้ส่งออกข้าวในเรื่องผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาและความเสี่ยงที่ไทยอาจสูญเสียตลาดให้กับประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทยอาทิ เวียดนาม กัมพูชา และพม่า

เมื่อบวกเข้ากับวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ภัยพิบัติครั้งนี้จะเป็นตัวแปรกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยเพิ่มมากขึ้นไปอีก

จริงอยู่ที่ปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี แต่ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกได้ทำให้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องที่หยั่งคาด ดังที่ปรากฏในรายงานขององค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่เตือนว่าภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อาจกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก เนื่องจากผลกระทบต่อผลผลิตให้ลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมในปี 2554 ซึ่งได้กระทบต่อนาข้าวเป็นจำนวนมากถึงเกือบ 10 ล้านไร่และประเมินว่าจะทำให้ผลผลิตหายไปราว 6 ล้านตัน เปรียบเทียบปี 2553 ที่แม้ว่าอุทกภัยได้เข้าท่วมพื้นที่นาข้าวเป็นบริเวณกว้าง 7.5 ล้านไร่ แต่ในแง่ผลกระทบต่อผลผลิตข้าวลดลงไปเพียง 5.9 แสนตันเท่านั้น

ปัญหาท้าทายเหล่านี้ซึ่งกำลังกระทบต่อความสามารถในตลาดส่งออกของไทยให้สั่นคลอนไปทีละน้อยอาจเป็นจุดเริ่มต้นกระตุ้นให้ต้องกลับมาทบทวนอีกครั้งว่า ยุทธศาสตร์ข้าวที่แท้จริงของไทยควรมุ่งไปในทิศทางใด