ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตลาดคอมมอดิตี้ในภาวะวิกฤต มีทั้งรุ่งและร่วง

ตลาดคอมมอดิตี้ในภาวะวิกฤต มีทั้งรุ่งและร่วง

22 ตุลาคม 2011


ที่มา : http://blog.heartland.org/wp-content/uploads/2011/06/futures_traders_chicago.jpg

เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์หลายด้านขนาบข้าง ตั้งแต่วิกฤตหนี้สินประเทศในกลุ่มยูโรโซนของสหภาพยุโรปและความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ จนถึงล่าสุดภัยพิบัติหลากรูปแบบทั้งอุทกภัย ดินถล่ม พายุทราย ภัยแล้งและเฮอร์ริเคนที่กำลังถล่มหลายประเทศทั่วโลกจากเอเชีย ละตินอเมริกา แอฟริกา จรดอเมริกาเหนือ

ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนที่โลกกำลังเผชิญหน้ามากขึ้นทุกขณะได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนผ่านบรรยากาศการซื้อขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้าในลักษณะของการเคลื่อนไหวในทิศทางที่สวนทางกันระหว่างสินค้าคอมมอดิตี้กลุ่มสินค้าเกษตรกับสินค้าคอมมอดิตี้กลุ่มโลหะมีค่า

การพุ่งทะยานของสินค้ากลุ่มพืชผลการเกษตรเป็นผลมาจากปัจจัยสภาพอากาศที่เลวร้ายลงในสหรัฐ โดยหลายพื้นที่อยู่ในภาวะแห้งแล้ง ขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะไทย เวียดนาม กัมพูชาและลาวซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญของโลกเผชิญกับวิกฤตอุทกภัย เช่นเดียวกับฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในละติน อเมริกากำลังกระทบต่อผลผลิตอ้อยในบราซิล และหลายประเทศในภูมิภาคได้รับเสียหายจนคาดว่าผลผลิตจะลดลงอย่างฮวบฮาบ

สัญญาซื้อขายสินค้าเกษตร อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองในตลาดล่วงหน้าชิคาโก บอร์ด ออฟ เทรดล้วนแต่ปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นมาจากการส่งออกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายในพื้นที่ตะวันตกตอนกลางและพื้นที่ตอนใต้ของสหรัฐที่อยู่ในภาวะแห้งแล้งและหนาวเย็นกระทบต่อผลผลิตของพืชผลเหล่านี้

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐประเมินว่า ผลผลิตของข้าวโพดและถั่วเหลืองในปีการผลิต 2554/2555 จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้

สัญญาข้าวโพดล่วงหน้ากำหนดส่งมอบเดือนธันวาคมปรับขึ้น 1.7 % ไปอยู่ที่ 6.49 ดอลลาร์ต่อบุชเชิล (1 บุชเชิลเท่ากับ 8 แกลลอน) ขณะที่สัญญาล่วงหน้าส่งมอบถั่วเหลืองเดือนพฤศจิกายนยืนราคาที่ 12.25 ดอลลาร์ต่อบุชเชิล สามารถหยุดการลดลงต่อเนื่องตลอด 3 วันทำการได้สำเร็จ เช่นเดียวกับกากถั่วเหลืองที่ราคาส่งมอบเดือนธันวาคมขยับขึ้นไป 1 ดอลลาร์อยู่ที่ 320.30 ดอลลาร์ต่อตัน

สำหรับราคาข้าวในตลาดชิคาโก บอร์ด ออฟ เทรดกำหนดส่งมอบเดือนพฤศจิกายนปรับลง 26 เซนต์ มาอยู่ที่ 16.26 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ จากระดับสูงสุด 16,405 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์กพบว่า ราคาข้าวในตลาดล่วงหน้าได้ปรับขึ้นมากว่า 15 % ในปีนี้ เมื่อเทียบกับราคาข้าวโพดที่ปรับขึ้น 1.5 % ข้าวสาลีและฝ้ายที่ปรับขึ้น 22 % และ 30 % ตามลำดับ

ชอน แฮคเกตต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทแฮคเกตต์ ไฟแนนเชียล แอดไวเซอร์สคาดการณ์ว่า จากผลผลิตที่ลดลงในสหรัฐและเอเชีย (จากภาวะแห้งแล้งในสหรัฐและอุทกภัยในเอเชีย) อาจดันราคาข้าวในตลาดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเป็น 19 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าซึ่งถือเป็นระดับสูงสุด หลังจากที่ราคาข้าวเคยพุ่งขึ้นไปที่ 25.07 ดอลลาร์ต่อ 100 ปอนด์มาแล้วในช่วงเดือนเมษายน ปี 2551

“อุทกภัยในเอเชียได้เข้ามาเป็นปัจจัยใหม่ ซึ่งหมายความว่าผลผลิตที่จะน้อยลงและคุณภาพที่ลดต่ำลงของปริมาณข้าวที่ผลิตได้ทั่วโลก” แฮคเกตต์เตือน

ขณะที่ภาวัน กุมาร นักวิเคราะห์จากราโบแบงก์ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดการณ์ว่า ผลจากวิกฤตอุทกภัยจะลดทอนผลผลิตข้าวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลงไปประมาณ 4 ล้านตัน ในจำนวนนั้น เป็นผลผลิตข้าวในประเทศไทยที่คาดว่าจะเสียหาย 3.5 ล้านตัน

แม้แต่ราคาน้ำตาลซึ่งปรับราคาลงต่อเนื่องราว 22 % นับจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับดูแลตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า (Commodities Futures Trading Commission: CFTC) ระบุว่าปริมาณธุรกรรมสัญญาซื้อน้ำตาลล่วงหน้าได้เพิ่มขึ้นในสัปดาห์นับถึงวันที่ 20 ตุลาคม อันเป็นผลมาจากความวิตกกังวลจากปัญหาอุทกภัยในประเทศไทย และในรัฐมหาราษฎระซึ่งเป็นแห่งผลิตน้ำตาลใหญ่สุดของอินเดีย อาจทำให้การผลิตน้ำตาลป้อนตลาดโลกหยุดชะงัก

ประกอบกับฝนที่ตกหนักในละติน อเมริกาได้ก่อปัญหาน้ำท่วมตามมาในหลายประเทศของภูมิภาคครอบคลุมตั้งแต่บราซิลประเทศผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลก นิคารากัวและฮอนดูรัสทำให้ได้ผลผลิตอ้อยที่ลดน้อยลง

สถานการณ์ของสินค้ากลุ่มเกษตรแตกต่างจากมอดิตี้ในอีกฟากหนึ่ง โดยพบว่า โลหะมีค่าตั้งแต่ทองคำ โลหะเงิน ทองแดง แพลตินัม รวมถึงน้ำมัน ที่ผานมาพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่องจากอานิสงส์ของความต้องการบริโภคที่มีมากในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ดาวรุ่ง (BRIC) บราซิล รัสเซีย อินเดียและจีน แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ท่วมในสหภาพยุโรปที่ยังขมวดตึง อันนำไปสู่ภาวะรัดเข็มขัดในหลายประเทศ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังไม่ฟื้นตัวแข็งแกร่งและมาตรการชะลอความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจในจีนกระทบต่อแนวโน้มความต้องการบริโภค

นอกจากนี้ การตกต่ำในคอมมอดิตี้กลุ่มโลหะมีค่าและน้ำมันยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลกที่เผชิญแรงเทขายในช่วงที่ผ่านมา ทุบมูลค่าตลาดหายไปมากถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ดัชนีสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส จีเอสซีไอ ซึ่งติดตามเคลื่อนไหวของคอมมอดิตีส์ 24 ตัว ปรับตัวลง 12 % ถือเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี

ราคาโลหะเงินทรุดฮวบลง 48 % จากระดับสูงสุดรอบ 31 ปีที่ระดับ 49.845 ดอลลาร์

ไม่แตกต่างจากทองคำซึ่งหลังจากพุ่งทะยานอย่างต่อเนื่อง 22 % ในปีนี้ ได้รับราคาลงมาอยู่ที่ 1,626.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (20 ต.ค.) ตลอด 1 สัปดาห์ ทองคำทรุดลง 3.3 % ต่ำกว่าระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1,922.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ที่เคยทำสถิติไว้ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอยู่ประมาณ 15.7 %

ทองแดงราคาร่วงลึกลงประมาณ 30 % จากระดับสถิติ 10,190 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ลงมาอยูที่ระดับ 6,999 ดอลลาร์ต่อตันระหว่างการซื้อขายเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา(20 ต.ค.)

ทองแดงเป็นโลหะสำคัญที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและพลังงานได้อานิสงส์จากความต้องการบริโภคอย่างมากมายของจีนในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงต่อเนื่อง ซึ่งสัดส่วนความต้องการถึง 40 % ของความต้องการทั่วโลก โดยเฉพาะปีนี้ประเมินจะอยู่ที่ระดับ 20 ล้านตัน

บทวิเคราะห์ของคอมเมิร์ซ แบงก์ตั้งข้อสังเกตว่า ตราบใดที่ข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ยังออกมาในเชิงลบ ราคาทองแดงจะอยู่ภายใต้แรงกดดันไปอีกระยะหนึ่ง

ในส่วนของราคาน้ำมันดิบ พบว่า ปัจจัยวิกฤตหนี้ในยุโรปกลายเป็นตัวแปรที่ครอบงำการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน โดยปัจจุบัน ราคาน้ำมันดิบไลต์ครูดของสหรัฐยังเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 86-87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือซื้อขายอยู่ที่ระดับ 109.50-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงสัปดาห์ล่าสุดนับถึงวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา เทียบกับราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตะกร้าน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลกหรือโอเปกในรอบ 1 ปีนี้ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 107.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

คาเรน เซเรน วารอล ผู้จัดการความเสี่ยง บริษัทโกลบอล ริสก์ แมเนจเมนต์ ให้ทัศนะว่า หากการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปได้ข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมบางอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ ก็มีโอกาสเห็นราคาน้ำมันดิบเบรนต์ขยับไปที่ 114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากไม่มีข้อตกลงใดๆ ออกมา เป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดิบเบรนต์จะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 103-104 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล