ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นักวิชาการ ระดมความเห็นแก้ พ.ร.บ. แข่งขันการค้า กำจัด “อีแอบ” ผูกขาดอย่างยั่งยืน

นักวิชาการ ระดมความเห็นแก้ พ.ร.บ. แข่งขันการค้า กำจัด “อีแอบ” ผูกขาดอย่างยั่งยืน

12 ตุลาคม 2011


ความพยายามผลักดันให้มีแก้ไขพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ให้มีประสิทธิภาพสามารถบังคับใช้ได้จริง เพื่อป้องกันการผูกขาดและสร้างความเป็นธรรมทางธุรกิจการค้า นอกจากเครือข่ายสมัชชาปฏิรูปเฉพาะประเด็น “การปฏิรูปนโยบายและกฎหมาย เพื่อลดการผูกขาดและสนับสนุนการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย” แล้ว ยังมีคณะทำงานสัมมนาและเผยแพร่คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) และแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2554 มีการอภิปรายเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า” ภายใต้โครงการวิจัย “การปรับปรุงกระบวนการนิติบัญญัติของประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการมีสวนร่วมของประชาชน” มีผู้ร่วมอภิปรายและแสดงความคิดเห็น ได้แก่ นางอานิก อัมระนันทน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป (ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)) นายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา รวมถึงคณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วม โดยมีนายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการอภิปราย

ทั้งนี้ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า (ฉบับที่..) พ.ศ. …เป็นร่างที่เสนอโดย นางอานิกและคณะและได้รับการรับรองโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2554

ทั้งนี้ก่อนเปิดให้อภิปรายอย่างขวาง มีการนำเสนอ “บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทาการค้า(ฉบับที่…) พ.ศ. … ของนางอานิก โดย ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์เสนอ 6 ข้อ แก้พ.ร.บ.แข่งขันฯ

โดยสรุปการวิเคราะห์ของดร.วรรณวิภางค์ มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ (รายละเอียด: บทวิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …)

1. ควรให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ยกเว้นที่มีองค์กรกำกับดูแลของตนเอง
2. กฎหมายควรระบุแนวทางการคำนวณส่วนแบ่งตลาดให้ชัดเจน และควรตั้งขอบข่ายของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดสูงให้ชัดเจน เพื่อให้อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า
3. กำหนดแนวทางการพิจารณาเพื่ออนุโลมให้มีการผูกขาดได้ในระยะสั้นให้ชัดเจน
4. ให้สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ามีหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเกี่ยวกับกฎหมายแข่งขันทางการค้า รวมถึงรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคด้วย
5. เพิ่มบทลงโทษให้เพียงพอแก่การเป็นเครื่องมือป้องกันที่มีประสิทธิภาพ แต่ไม่ควรมีโทษทางอาญา
6. ปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรรหา และ คณะกรรมการให้มาจากสายความเชี่ยวชาญที่ตรงกับงานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะสาขานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการคุ้มครองผู้บริโภค และลดจำนวนสาขาที่ไม่จำเป็น

ขณะที่ในเวทีอภิปรายมีการแสดงความเห็นหลากหลายในประเด็นที่ ดร.วรรณวิภางค์ นำเสนอบทวิเคราะห์และเสนอแนะ สาระที่อภิปรายกันค่อนข้างมากคือ ประเด็นให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ประเด็นความเป็นอิสระของสำนักงานคณะกรรมการ และบทลงโทษ

ลุ้น ”ยิ่งลักษณ์” ยืนยันร่างกฎหมายสส.ประชาธิปัตย์

นางอานิก ได้แสดงความเห็นด้วยที่ควรให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ และร่างกฎหมายที่เสนอก็ให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ยกเว้นที่มีองค์กรกำกับดูแลของตนเอง ซึ่งในความเป็นจริงไม่ต้องการให้มีข้อยกเว้นเหมือนดังข้อเสนอของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักวิจัยสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “การปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในเศรษฐกิจไทย”

โดยถ้อยคำ “ควรให้รัฐวิสาหกิจทุกประเภทอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ ยกเว้นที่มีองค์กรกำกับดูแลของตนเอง” ที่เขียนอยู่ในร่างกฎหมายฯนั้น นางอานิกเรียกว่าเป็นผลของการประนีประนอมภายในพรรคสะท้อนความมีวินัยของพรรค และวินัยของสส.ที่เขียนกฎหมายฯ นี้

“เคยเสนอให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันแบบไม่มีข้อยกเว้น ให้คณะกรรมกฎหมายของพรรคพิจารณา 3 รอบไม่ผ่าน ตอนนั้นเขาห่วงอยากให้รัฐมีเครื่องมือช่วยคนจน จึงเขียนร่างฯ แบบพบกันครึ่งทาง ซึ่งตัวเองไม่เห็นด้วย แต่จำเป็นต้องให้ผ่านคณะกรรมการกฎหมายของพรรค แต่ถึงที่สุดแล้วไม่อยากให้มีข้อยกเว้นรัฐวิสาหกิจใดๆ เลย”

นางอานิกยังระบุถึงข้อเสนอของดร.เดือนเด่นว่า แม้จะให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า แต่ถ้าเป็นไปตามนโยบายหรือกฎหมายหลักของรัฐบาลก็จะได้รับการยกเว้นโดยอัตโนมัตินั้น ในทางปฏิบัติดูดี เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เสียงข้างมากก็ควรจะทำได้ แต่จะเป็นอันตรายถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายเป็นประชานิยม โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว ก็น่าเป็นห่วง ดังนั้นไม่ต้องการให้มีข้อยกเว้นเลย

นางอานิก อัมระนันทน์ สส. พรรคประชาธิปัตย์
นางอานิก อัมระนันทน์ สส. พรรคประชาธิปัตย์

นางอานิกยอมรับว่าแรงจูงใจที่ผลักดันให้แก้ไขพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า คือบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่แม้ออกลูกหลานเป็นหลายบริษัท แต่กระจุกตัวในธุรกิจพลังงาน

สำหรับความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติ การแข่งขันทางการค้า (ฉบับที่..) พ.ศ. .. ที่นางอานิกเสนอในรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้นตกไปแล้ว แต่นางอานิกบอกว่า ได้เสนอยืนยันกลับเข้าไปใหม่แล้วผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร และกลับไปที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะรับรองร่างกฎหมายฯหรือไม่

“ตอนนี้อยู่ที่ว่านายกรัฐมนตรีจะรับรองง่ายๆ หรือเอาไปเก็บดองเอาไว้ ถ้ารับรองขบวนต่อไปก็เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ แต่ถ้าไม่รับรอง ก็คงออกมาเรียกร้อง โดยกฎหมายฯ ฉบับนี้ควรให้ภาคประชาชนช่วยผลักดัน และต้องช่วยกันกดดันให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ ฉบับนี้ เพราะจะโยงไปแก้ปัญหาทุกอย่างไม่เฉพาะปตท. เท่านั้น แต่รวมถึงประเด็นอาหารสัตว์และอื่นๆ ด้วย”

นักธุรกิจชี้ “ผูกขาด” เป็นเผด็จการทำลายรายย่อย

ด้านนายปรีดา มีความเห็นประเด็นรัฐวิสาหกิจว่า น่าจะใช้แนวคิดของอังกฤษในยุคของนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยมีหลักสำคัญ คือการทำนโยบายนี้ รัฐบาลต้องมี “political view” ว่าจะเอาอะไรเป็นรัฐวิสาหกิจ และอะไรไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ถ้าต้องการหน่วยงานใดเป็นรัฐวิสาหกิจก็ชัดเจนทำเต็มที่ ถ้าไม่ต้องการก็เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้านำหน่วยงานใดเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯแล้วรัฐบาลต้องการถือหุ้นไว้เพื่อดูแลประโยชน์ให้ผู้บริโภค รัฐบาลควรถือหุ้นแค่ 5% สำหรับส่งคนไปนั่งเป็นกรรมการเพียง 1 คน

“เรื่องนี้ผมก็คิดมาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนี้ผมเห็นด้วย ของเราให้เป็นลูกอีแอบ คือเป็นทั้งของรัฐและสาธารณะ เมื่อลูกอีกแอบจะเป็นของรัฐก็วิ่งไปบอกว่าฉันเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ขณะเดียวกันก็บอกว่าฉันอยู่ตลาดหุ้นด้วย จากการที่เรามีลูกอีแอบทำให้มีการเอาเปรียบสาธารณะชนอย่างโจ๋งครึ่ม ด้วยการเอาอธิบดี ปลัด และอัยการทั้งหลายมานั่งในกรรมการต่างๆ เพราะอาศัยความเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่ถ้าทำให้ชัดเจนว่าเป็นบริษัทจำกัดเขาเข้ามาไม่ได้ ก็จะกำจัดลูกอีแอบได้เยอะ มันเป็นความคิดล้ำลึก ยิ่งคิดยิ่งถูกต้อง”

ส่วนประเด็นสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า นายปรีดามีความเห็นว่า ความเป็นอิสระเป็นสิ่งที่ดี แต่การมีความสามารถก็สำคัญ โดยจากการประชุมหารือของสมัชชามีความเห็นว่า ถ้าสร้างคณะกรรมการชุดนี้ให้เป็นซูเปอร์บอร์ดในการทำอะไรได้หลายอย่าง และโชคดีได้คนที่ดี คนเก่ง มีความสามารถอ่านเกมออกว่า บริษัทนั้นๆ มีพฤติกรรรมให้คู่แข่งรายใหม่เข้ามาหรือไม่ รวมทั้งหลักเกณฑ์ที่กำหนดเรื่องส่วนแบ่งตลาดหรือกำหนดจากผลกำไร 1,000 ล้านบาท

“การพิจารณาว่า บริษัทมีพฤติกรรมให้คนใหม่เข้ามาหรือไม่ อันนี้สำคัญเพราะถ้าเราไม่สามารถให้มีบริษัทเกิดใหม่ หรือให้ผู้ประกอบการรายย่อยเกิดมาได้ อินโนเวชั่นของรายย่อยจะพังทันที อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต้องทำหน้าที่คุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคด้วย”

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป (ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน))
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ กรรมการสมัชชาปฏิรูป (ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน))

นายปรีดาได้ฝากข้อคิดเป็นปรัชญาว่า การผูกขาดทั้งหลาย เปรียบเหมือนเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทางเศรษฐกิจ เผด็จการสภา เผด็จการทหาร เผด็จการการเมือง เป็นสิ่งที่ไม่พึ่งเกิด ที่เห็นชัดคือกรณีเผด็จการการค้าที่นักการเมือง นักธุรกิจใช้เป็นเครื่องมือครอบงำสื่อ

“เมื่อผูกขาดทางการค้า จะทำให้เกิดเผด็จการทางเศรษฐกิจ เผด็จการทางการเมือง และในที่สุดก็เป็นเผด็จการทางสังคม ซึงไม่พึงให้เกิดขึ้น”

นักกฎหมายเสนอเพิ่มบทบาทภาคประชาชน

ด้านนายสรวิศ ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอให้รัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และได้อภิปรายในประเด็นการมีสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นอิสระเพื่อกำกับดูแล โดยมองว่าการกำกับดูแลมี 2 ส่วนคือกำกับโดยภาครัฐ และกำกับดูแลโดยภาคประชาชนด้วยกันเอง

นายสรวิศ สนับสนุนแนวคิดการกำกับโดยประชาชน ในสหรัฐอเมริกาใช้วิธีนี้ ทำให้กฎหมายบังคับใช้ได้ดี โดยการให้โอกาสภาคประชาชนสามารถมาดำเนินคดีส่งฟ้องเองได้ถ้าอัยการไม่ส่งฟ้อง อย่างไรก็ตามการให้ประชาชนแต่ละรายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมฟ้องดำเนินคดีอาจไม่คุ้มกับการดำเนินการ เพราะค่าใช้จ่ายดำเนินคดีสูงกว่าความเสียหายที่ได้รับ

โดยยกตัวอย่างว่า ถ้าเขาบริโภคไข่ไก่เดือนละ 2 แพค แพคละ 60 บาท เดือนหนึ่ง 120 บาท ปีหนึ่ง 1,440 บาท มีความเสียหายเป็นจำนวนเงินแค่ 1,440 บาท จะมีแรงจูงใจอะไรไปฟ้องร้องบังคับกฎหมายคงไมคุ้ม แต่ในสหรัฐอเมริกามีการดำเนินคดีแบบรวมกลุ่ม คือนำผู้มีส่วนได้เสียรายเล็กๆ น้อยๆ มารวมกลุ่มให้ใหญ่ขึ้น จะได้คุ้มกับการดำเนินคดี

แต่เท่านั้นยังไม่พอต้องเพิ่มแรงจูงใจอีกทางหนึ่งคือ มีการจ่ายค่าเสียหายในเชิงลงโทษ คือ ถ้าเสียหาย 100 บาท ถ้าชนะคดีสุดท้ายหักค่าเสียเวลา ค่าทนายแล้วจะเหลือเงินกลับบ้าน 40-50 บาท แต่ถ้ามีค่าเสียหายเชิงลงโทษก็อาจได้ค่าเสียหายเพิ่มเป็น 300 บาท ทำให้มีส่วนต่างเป็นแรงจูงใจว่าเอาไปเสียค่าทนายความ ค่าเวลา ทำให้คุ้มที่ดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายภาคประชาชนมีประสิทธิภาพ ในสหรัฐอเมริกายังเปิดช่องให้ทนายความทำหน้าที่เหมือนเป็นผู้ลงทุน ในการรวบรวมผู้มีส่วนได้เสีย รวบรวมพยานหลักฐาน แล้วหักค่าดำเนินการตอนท้าย คือถ้าดำเนินคดีชนะ ทนายอาจได้ค่าตอบแทน 30-40 % แต่ถ้าไม่ชนะก็อาจไม่ได้อะไรเลย แต่จะใช้วิธีนี้กับบ้านเราต้องชั่งน้ำหนักดูว่าเราจะมีมาตรการจูงใจหรือไม่ และดูมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะวิธีนี้อาจสุ่มเสี่ยงให้เกิดการค้าความ

ส่วนการกำกับดูแลด้วยรัฐ นายสรวิศเห็นว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ดูจากกรณีของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่มีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีกลไก ไม่มีบุคลากรรองรับ ทำให้เรื่องติดขัดไม่เดินหน้า ทางเลือกให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลในลักษณะการบังคับโดยภาคประชาชนจึงควรนำมาพิจารณา

สำหรับประเด็นความเป็นอิสระของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า นายสรวิศเห็นด้วยกับประเด็นนี้ และไม่ห่วงเรื่องคณะกรรมการ เพราะเชื่อในบริบทของสังคมไทยว่า ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก และเมื่อไม่มีความเป็นอิสระ ก็จะยากที่จะบังคับใช้กฎหมาย

นายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา
นายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา

โทษอาญาต้องมี ใช้เฉพาะกรณี “ฮั้วกัน”

นายสรวิศ ยังอภิปรายประเด็นบทลงโทษโดยเห็นว่า โทษทางอาญาจำเป็นต้องมี เพราะบ้านเรากลัวเข้าคุก 1 วันมากกว่าเสียค่าปรับเป็นพันล้านบาท แต่โทษทางอาญาควรใช้เฉพาะกรณีความผิดรุนแรงชัดเจน หรือพวก “ฮาร์ด คอร์” เช่น คาร์เทล หรือ การฮั้วกันกำหนดราคาสินค้า หรือกำหนดโควตาสินค้า แต่บางกรณีหรือบางประเภทต้องอาศัยบทวิเคราะห์ เพราะไม่ชัดเจน ก็ไม่ต้องโทษอาญา

นอกจากนั้นในต่างประเทศ อัยการมีสิทธิใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะดำเนินคดีแบบใด แต่อัยการบ้านเขากับบ้านเราก็ต่างกัน เห็นได้จากกรณีฮอนด้า 12 ปีแล้วยังไม่ตัดสิน อีกอย่างที่ในต่างประเทศนำมาใช้ได้ เช่น กรณีคาร์เทล หรือฮั้วกัน ในอเมริกาและยุโรปจะสร้างแรงจูงใจให้คนที่ฮั้วกันแล้วหักหลังมาบอกข้อมูลให้รัฐ จะได้รับคุณประโยชน์ไม่ถูกดำเนินคดี เพราะว่าเป็นการให้ความร่วมมือ เนื่องจากการฮั้วกันไม่มีใครรู้นอกจากคนที่ทำกัน

“ดังนั้นถ้าเรามีสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันฯที่เป็นอิสระ แต่ถ้าไม่มีข้อมูล ไม่มีการนำคนผิดมาลงโทษ การมีคณะกรรมการอิสระก็ช่วยได้ไม่มาก ต้องมีเครื่องมือประกอบด้วย”

“ดร.สมเกียรติ”แนะใช้ช่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ ซึ่งร่วมฟังอภิปรายแสดงความเห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายโดยภาคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่าในทางปฏิบัติจะทำให้เกิดได้หรือไม่ จึงเสนอทางเลือกเพิ่มเติมว่า ถ้าจะทำให้เกิดแบบนั้น ควรทำให้คดีการแข่งขันทางการค้าที่ฟ้องร้องโดยผู้บริโภคเป็นคดีคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าทำได้จะมีหลายเรื่องเข้าข่ายเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ

“ดังนั้นแทนที่จะแก้กฎหมายทั้งหมดก็แก้เพียงบรรทัดเดียวว่า ให้เป็นคดีฟ้องร้องผู้บริโภคไป ก็เป็นอีกทางเลือกที่ฝากนักกฎหมายคิดว่าเข้าท่าไหม”

ดร.สมเกียรติ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีทางเลือกแบบ “ฟอรัม ชอปปิ้ง” ด้วย คือ ใช้การบังคับภาคประชาชนก็เดินกันไป กับอีกทางเลือกหนึ่งคือทางเลือกในทางปกครองคือผ่านสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า โดยทางเลือกนี้เมื่อลงโทษปรับแล้ว ซึ่งไม่ใช่ปรับทางแพ่ง แต่เป็นโทษปรับทางปกครอง น่าจะช่วยป้องปราบได้ เพราะคดีแบบนี้มีความไม่แน่นอนสูงมาก และโอกาสชนะไม่ใช่ร้อยเปอร์เซ็นต์

“ถ้า 2 แนวทางเดินขนานกันไป น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง คือกฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่ได้ตัดการบังคับภาคประชาชน โดยสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันฯ เพียงแต่เปลี่ยนการลงโทษอาญา ปัจจุบันที่ลงโทษจำคุกหนักๆ และปรับเบา ก็เปลี่ยนโทษเหลือเฉพาะจำคุกที่ผิดชัดเจน เช่น คาร์เทล หรือ การฮั้วกัน โดยกรณีไม่เด็ดขาด อย่างเช่น มาตรา 25 ไม่ควรเป็นอาญา แต่มาตรา 27 ควรเป็นอาญา ส่วนที่เป็นโทษปรับแต่ละมาตรการก็ปรับให้สูงขึ้น”

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอ

ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจที่มี 2 สูตรคือ รัฐวิสาหกิจทุกแห่งควรอยู่ภายใต้กฎหมายแข่งขันการค้า กับอีกสูตรหนึ่งเกิดจากการประนีประนอมนั้น ดร.สมเกียรติ มีความเห็นว่า หลายรัฐวิสาหกิจ มีกฎหมายเป็นของตัวเอง เช่น ขสมก. จัดตั้งโดยพระราชกฤษฎีกา ซึ่งไม่มีอำนาจผูกขาด จึงไม่แปลกที่มีปัญหาขาดทุนจนแข่งขันไม่ได้ แต่รัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ นำมาซึ่งผูกขาด ตรงนี้อันตราย

เพราะฉะนั้นถ้าจะยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งเป็นของตัวเอง และจัดตั้งโดยพระราชบัญญัติจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการผูกขาด รวมถึงกรณียกเว้นรัฐวิสาหกิจที่ทำตามนโยบายรัฐบาลกำหนด ดร.สมเกียรติก็เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะรัฐบาลไม่ควรใช้เครื่องมือ หรือดำเนินนโยบายผ่านรัฐวิสาหกิจไปทำลายตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น ถ้าจะช่วยคนจน รัฐบาลต้องทำแบบเป็นกลางไม่ให้ตลาดเสียหาย อย่างกรณีรถเมล์ฟรี รัฐบาลต้องอุดหนุนรถร่วมด้วย ตลาดก็จะไปได้

“ดังนั้น ควรยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่มีองค์การกำกับดูแลเฉพาะ และควรเป็นการกำดับดูแลที่มีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอยู่แล้ว เนื่องจากบางแห่งกำกับดูแลก็จริงแต่ไม่มีการกำกับแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม”

ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายข้างต้น เป็นเพียงแนวความคิดที่ต้องมีการผลักดันต่อไปเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม