ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

นานาชาติพร้อมใจแนะกลางเวทียูเอ็น ประเทศไทยควรแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ – พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

7 ตุลาคม 2011


รายงานโดย ประชาไท
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท 6 ต.ค. 2554

เมื่อเวลา 19.30 วันที่ 5 ตุลาคม 2554 สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้จัดเวทีการรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากรัฐบาลไทยรายงานสถานการณ์สิทธิฯ ต่อสหประชาชาติและตัวแทนจากรัฐบาลต่างๆ กว่า 50 ประเทศ ทั้งนี้ ทางข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ได้ทำการถ่ายทอดสดการรายงานดังกล่าว ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย ถนนเพลินจิต

การรายงานการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของแต่ละประเทศ หรือกระบวนการยูพีอาร์ เป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประเทศต่างๆ ในสภาสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ตั้งคำถามต่อประเทศที่ถูกตรวจสอบ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งใน 16 ประเทศของรอบเดือนตุลาคม 2554 ที่ต้องรายงานสถานการณ์สิทธิภายในประเทศต่อประชาคมนานาชาติ โดยใช้เวลารวมทั้งหมดสามชั่วโมง

ทางคณะผู้แทนไทย นำโดยเอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ พร้อมตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงแรงงาน ได้รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยโดยรวมว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อมาก จะเห็นจากการที่สื่อไทยและต่างประเทศสามารถทำงานได้โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐบาล และกล่าวถึงเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในปีที่แล้วว่า รัฐบาลกำลังดำเนินการทำการเยียวยา และชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม

อังกฤษ-นอร์เวย์ ระบุ เคารพสถาบันได้ แต่อย่าจำกัดเสรีภาพการแสดงออก

ในเวทีดังกล่าว พบว่า ตัวแทนรัฐบาลจากเกือบ 20 ประเทศ อาทิเช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ สวีเดน แคนาดา ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรเลีย ได้แสดงความกังวลต่อประเด็นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกในไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่ริดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และได้เสนอคำแนะนำต่อประเทศไทย ให้ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทางตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ กล่าวในประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยว่า เห็นด้วยกับประเทศไทยที่ชี้ว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความเคารพ อย่างไรก็ตาม ประชาชนไทยควรจะสามารถถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในรัฐธรรมนูญได้ โดยไม่กลัวว่าจะถูกดำเนินคดีเพราะทำผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับตัวแทนรัฐบาลนอร์เวย์ ที่แสดงความเป็นห่วงถึงจำนวนผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายหมิ่นและ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ที่สูงขึ้นมาก และได้มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลไทย ควรทำให้กระบวนการยุติธรรมต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ และควรให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เหมาะสมแก่ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ ยังกล่าวว่า ในฐานะที่นอร์เวย์เป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐธรรมนูญอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (Constitutional Monarchy) นอร์เวย์เองก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หากแต่กฎหมายดังกล่าวกำหนดผู้ฟ้องไว้เฉพาะพระมหากษัตริย์ หรือต้องได้รับคำยินยอมจากพระมหากษัตริย์ก่อนเท่านั้น ทำให้ป้องกันไม่ให้มีการนำกฎหมายดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองได้

“เราขอแนะนำให้ประเทศไทย แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งนี้ เรายินดีที่จะแบ่งปันประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเราในประเด็นดังกล่าว [กับประเทศไทย]” ตัวแทนจากรัฐบาลนอร์เวย์ระบุ

ด้านรัฐบาลไทยแจง กำลังทบทวนกฎหมายหมิ่นฯ -พ.ร.บ. คอมพ์ฯ

ด้านตัวแทนจากกระทรวงยุติธรรมไทย กล่าวรายงานต่อสภาสิทธิฯ ว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ และพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ มิได้ละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกใดๆ อย่างไรก็ตาม ทางการไทยยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวควรมีการแก้ไขเพื่อป้องกันมิให้กฎหมายดังกล่าวถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อทบทวนและคัดกรองคดีความที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้หลายคดีถูกถอนข้อกล่าวหาไปแล้วเนื่องจากไม่มีมูลเหตุเพียงพอ

นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังชี้แจงว่า ในขณะนี้ รัฐบาลได้ได้ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในส่วนที่เป็นปัญหา โดยศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พร้อมทั้งกล่าวว่า ข้อถกเถียงที่มีอยู่มากเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวในสังคมไทยตอนนี้ จะถูกนำมาพิจารณาในคณะกรรมการดังกล่าวด้วย

ในประเด็นเรื่องพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ทางตัวแทนไทยได้ชี้แจงว่า กฎหมายดังกล่าวมีการป้องกันการใช้อย่างเหมาะสมแล้ว ดังจะเห็นจากข้อกำหนดที่ต้องขอหมายศาลก่อน เพื่อขออนุญาติก่อนทางตำรวจจะดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม เขาแจงว่า ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำลังพิจารณาการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริการให้อินเตอร์เน็ตมาให้ข้อเสนอแนะ

นานาชาติยังจับตาสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้

ด้านตัวแทนรัฐบาลฝรั่งเศส ออสเตรเลีย อังกฤษ แคนาดา ออสเตรีย และอีกหลายประเทศ ยังได้ยื่นข้อเสนอรัฐบาลไทย ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากมองว่า เป็นสาเหตุของการจับกุม คุมขัง และซ้อมทรมาน รวมถึงการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะมาตรา 17 ในพ.ร.ก ฉุกเฉิน ซึ่งหลายประเทศมองว่า เป็นการงดเว้นโทษให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ

ทางรัฐบาลออสเตรีย กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการเข้าถึงความยุติธรรม การงดเว้นโทษของหน่วยงานความมั่นคง รวมถึงปัญหาด้านสภาพความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในเรือนจำ พร้อมกันนี้ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิรูประบบยุติธรม และลงนามเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) รวมถึงอนุสัญญาป้องกันการบังคับคนให้สูญหายด้วย

ด้านสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ได้ตอบข้อเสนอแนะดังกล่าวว่า กฎหมายพิเศษที่ใช้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงเป็นกฎหมายที่จำเป็นเพื่อใช้ในการจัดการสถานการณ์ที่มีความรุนแรง ทั้งนี้ เขาชี้ว่ากฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนสากล และมิได้เป็นสาเหตุของการละเมิดสิทธิมนุษยชนใดๆ

“กฎหมายพิเศษดังกล่าวนี้ มิได้เป็นสิ่งที่จะเอามาใช้แทนกระบวนต่างๆ ตามกฎหมาย นอกจากนี้ มาตรา 17 ใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็มิได้อนุญาตการงดเว้นโทษใดๆ แก่เจ้าหน้าที่รัฐแม้แต่น้อย เพราะพวกเขายังอยู่ภายใต้กฎหมายอาญา โปรดแน่ใจได้เลยว่า ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย” สีหศักดิ์ย้ำ

ผู้สื่อข่าวเนชั่นชี้ ‘สีหศักดิ์’ ให้ข้อมูลเชิงบิดเบือน เกรงต่างชาติเข้าใจผิด

ประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น หนึ่งในวิทยากรในงาน ให้ความเห็นว่า ในประเด็นเรื่องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับว่าเป็นความสำเร็จ เนื่องจากมีราว 20 ประเทศได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปรับการใช้กฎหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล อย่างไรก็ตามเขาชี้ว่า สีหศักดิ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการรายงานสถานการณ์สิทธิ ได้พยายามให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง

“ท่านทูตบอกว่า ประเทศไทย สื่อมีเสรีภาพที่จะพูดเรื่องการเมือง ต้องถามว่าถ้าการเมืองไปโยงกับสถาบันปุ๊บ สื่อสามารถจะพูดได้หรือเปล่า ก็ชัดเจนว่าสื่อพูดไม่ได้ สื่อไทยส่วนใหญ่ไม่ยอมที่จะตั้งคำถามหรือถกเรื่องเกี่ยวกับบทบาทเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ ต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพทางการเมือง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ทูตพูดในทำนองทำให้ชาวต่างชาติหรือสาธารณะเข้าใจผิดได้” ประวิตรกล่าว

นอกจากนี้ ประวิตรยังมองว่า ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ในฐานะที่ชูประเด็นเรื่องประชาธิปไตย ทำหน้าที่ได้อย่าง “น่าละอาย” และ “น่าผิดหวังอย่างยิ่ง” เนื่องจากสหรัฐฯ ไม่ยกประเด็นเรื่องกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์มากล่าวในเวที ทั้งๆ ที่ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปพูดเรื่องนี้ทั้งหมด หากแต่เพียงจำกัดอยู่เรื่องการสนับสนุนคณะกรรมการปรองดองฯ เท่านั้น

ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตสีหศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังกับผู้สื่อข่าวว่า ในประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อ เขาหมายถึงสื่อสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและประเด็นทางการเมืองได้อย่างเสรี ส่วนในเรื่องกฎหมายหมิ่นฯ เขากล่าวว่า ทางคณะผู้แทนไทยได้ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวถูกใช้ในทางที่ผิด และย้ำว่า เรื่องนี้ต้องนำมาพูดคุยกัน เพื่อนำไปสู่การหาฉันทามติร่วมกันในระดับชาติต่อไป