ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร. เติมชัย บุนนาค” ยอมรับเติม CO2 ในก๊าซเอ็นจีวีรถยนต์กัดกร่อนภาพลักษณ์ ปตท.

“ดร. เติมชัย บุนนาค” ยอมรับเติม CO2 ในก๊าซเอ็นจีวีรถยนต์กัดกร่อนภาพลักษณ์ ปตท.

9 กันยายน 2011


ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

“ปตท.” ประกาศนโยบายว่าเป็นบริษัทพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อไทย

ขณะที่ข่าวการเติมคาร์บอนไดออกไซด์เหลว (CO2) ในก๊าซเอ็นจีวีที่ใช้สำหรับเป็นพลังงานทางเลือกของรถยนต์เมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา เป็นคำถามที่ ปตท. ยังต้องชี้แจงอยู่ แม้ช่วงปลายปี 2553 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ไขข้อข้องใจผ่านสื่อสิ่งพิมพ์รวมทั้งซื้อพื้นที่โฆษณาเพื่อบอกเล่าว่าทำไมปตท. ต้องเติม CO2 และ CO2 ทำให้ถังเอ็นจีวีผุ และมีอายุการใช้งานสั้นลงหรือไม่

ในการซื้อพื้นที่โฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์นั้น ปตท. ชี้แจงทำไมต้องเติม CO2 ลงในเอ็นจีวีว่าเพื่อคงค่าความร้อนจากการเผาไหม้ไม่ให้สูงเกินมาตรฐานสำหรับรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีในประเทศไทย ค่าความร้อนมาตรฐานตามกฎหมายที่กำหนดไว้คือ 37-42 เมกะจูลต่อลูกบาศก์เมตร ปตท. ได้พัฒนาประสิทธิภาพการแยกก๊าซธรรมชาติของแหล่งก๊าซตะวันออก (อ่าวไทย) จนได้ก๊าซธรรมชาติที่บริสุทธิ์ มีปริมาณ CO2 ลดลงจาก 12 % เหลือ 9 % ทำให้ค่าความร้อนสูงขึ้นจาก 41 เมกะจูลต่อลูกบาศก์เมตร เป็น 44 เมกะจูลต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นปตท. จึงต้องเติม CO2 ประมาณ 3 % เพื่อให้ค่าความร้อนที่ได้เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่ทำให้คุณภาพของก๊าซจากแหล่งตะวันออกกับตะวันตก (พม่า) แตกต่างกันมากเกินไปจนเกิดผลเสียกับรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี

และชี้แจงคำถามที่ว่า CO2 จะทำให้ถังเอ็นจีวีผุ และมีอายุการใช้งานสั้นลงหรือไม่ว่า เนื่องจากก๊าซธรรมชาติของไทยที่ส่งถึงมือลูกค้ากลุ่มต่างๆ เป็นก๊าซแห้งซึ่งได้ผ่านกระบวนการแยกน้ำออกจากก๊าซธรรมชาติแล้ว เมื่อไม่มี “น้ำ” ผสมอยู่ จึงไม่มีโอกาสทำปฏิกิริยากับ CO2 จนเกิดการกัดกร่อนกับถังเอ็นจีวีแต่อย่างใด

นี่คือ 2 ประเด็นใหญ่ของ CO2 ที่กัดกร่อนภาพลักษณ์ปตท. ว่าเป็นพลังงานสะอาด ลดโลกร้อน และสังคมโลว์คาร์บอน

หลังจากที่มีข่าวและคำถามเรื่อง CO2 จากการลงพื้นที่สำรวจสถานีให้บริการเอ็นจีวีของปตท. โดยสำนักข่าวไทยพับลิก้า พบว่าสถานีทางภาคตะวันออก (อ่าวไทย) ที่มีถังคาร์บอนไดออกไซด์เหลวจากเดิมที่ข้างถังเขียนระบุว่าของเหลวในถังคืออะไร แต่ปัจจุบันได้ลบชื่อออกแล้วทาสีทับใหม่

ถังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลว ตั้งอยู่ในสถานีให้บริการ สังเกตุเห็นชื่อข้างถังได้ถูกลบออกและใช้สีขาวทาทับใหม่
ถังก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลว ตั้งอยู่ในสถานีให้บริการ สังเกตุเห็นชื่อข้างถังได้ถูกลบออกและใช้สีขาวทาทับ

อย่างไรก็ตามยังมีคำถามมากมายเกี่ยวกับ CO2 ต่อความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และนโยบายของปตท. ต่อพลังงานสะอาด การลดโลกร้อน และสังคมโลว์คาร์บอน

ต่อเรื่องนี้ ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้าเพื่อสร้างความชัดเจนในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเติม CO2 ในก๊าซเอ็นจีวี

ไทยพับลิก้า : การเติม CO2 ขัดแย้งกับสิ่งที่ปตท. กำลังทำหรือไม่ในเรื่องพลังงานยั่งยืน การปลูกต้นไม้ ลดภาวะโลกร้อน

ผมไม่ตั้งใจจะใส่ CO2 ไปตลอด นี่เป็นแค่มาตรการชั่วคราว เพราะปตท. หยุดขายก๊าซเอ็นจีวีไม่ได้ เนื่องจากมีลูกค้าที่ใช้รถยนต์เยอะมาก ขณะนี้ประมาณ 280,000 คัน และกว่า 50 % เป็นรถบรรทุกที่เปลี่ยนมาเป็นใช้เอ็นจีวีเต็มรูปแบบแล้วไม่สามารถใช้น้ำมันได้อีก ซึ่งเขาจำเป็นต้องใช้เขาต้องวิ่งตลอดเวลาหรือรถยนต์ยี่ห้อทาทาใช้เอ็นจีวี หากไม่มีเอ็นจีวีให้เขาก็ต้องจอดเลย ดังนั้นปตท. หยุดไม่ได้แล้ว ต้องเดินหน้าต่อไป

วันนี้มันถึงจุดที่ปตท. ต้องทำ เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เขา (คนใช้รถยนต์) ก่อนแต่ข้างหน้าเรากำลังพัฒนา ECU (Electronic Control Unit) เพื่อควบคุมการจ่ายก๊าซในปริมาณที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ ผมกำลังเร่งศึกษาอยู่ หากสามารถผลิตออกมาได้เราก็ติด ECU กับรถยนต์ ถ้าทำสำเร็จเรื่องการเติม CO2 ก็จบไป

“ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีพลังงานได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนฯ ไปครั้งหนึ่งแล้วว่าการเติม CO2 เป็นแค่มาตรการชั่วคราว ทำขี้นมาเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้น ส่วนระยะยาวเราคงไม่ใส่”

ไทยพับลิก้า : คิดมาก่อนหรือไม่ว่าจะต้องเติม CO2 ในเอ็นจีวี

การที่ต้องเติม CO2 ในก๊าซเอ็นจีวี มาจากคุณภาพก๊าซจากอ่าวไทย (ตะวันออก) และก๊าซจากพม่า (ตะวันตก) มีค่าความร้อนแตกต่างกัน โดยก๊าซจากตะวันออกผ่านโรงแยกก๊าซทำให้คุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ค่าความร้อนจะสูง ขณะที่จากพม่าไม่ผ่านโรงแยกก๊าซเพื่อนำมาใช้ในโรงไฟฟ้า ค่าความร้อนจะต่ำกว่า

ดังนั้นรถยนต์ที่เติมก๊าซโดยมีค่าความร้อนต่างกันจะน็อคได้และไม่ปลอดภัยกับผู้ใช้รถ จึงต้องปรับค่าความร้อนตะวันออกกับตะวันตกให้เท่ากัน ด้วยการเติม CO2 เพื่อให้รถยนต์สามารถเติมก๊าซ และวิ่งข้ามโซนกันได้ (ตะวันออกคือผู้ใช้รถฝั่งกรุงเทพ ขณะที่ตะวันตกคือผู้ใช้รถฝั่งธนบุรี)

“เป้าหมายการใช้ก๊าซจากตะวันตก นำมาเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า ดังนั้นอนาคตหากต้องนำเข้าก๊าซพม่ามากขึ้น ค่าความร้อนจะห่างออกไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้ค่าความร้อนของก๊าซแตกต่างกันมากขึ้น ซึ่งจะมีปัญหาในข้างหน้า”

ดังนั้นการเติม CO2 เป็นสิ่งที่เราเป็นห่วงเหมือนกัน ผมเพิ่งได้คุยกับฝ่ายวิจัยปตท. ว่าจะต้องเร่งพัฒนาและผลิตเครื่อง ECU ออกมาให้เร็วที่สุด เพราะเราจะใส่ CO2 ในก๊าซเอ็นจีวีมากกว่านี้คงไม่ได้แล้ว มีสเปคอยู่ว่า CO2 ต้องไม่เกิน 18 % ตามมาตรฐานของถังซึ่งผมไม่ค่อยสนับสนุนให้ใส่ CO2

“เครื่องมือใหม่ ECU เข้าไปปรับการฉีดเอ็นจีวีในเครื่องยนต์เป็นอิเลคทรอนิกส์ที่จะเข้าไปปรับค่าความร้อนในรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีอัตโนมัติเวลา CO2 สูง / ต่ำ ค่าความร้อนจะต่างกัน ตัวนี้ก็จะปรับค่าให้ เราทำวิจัยมาปีกว่าๆ เรากำลังทำเป็นคอมเมอร์เชี่ยลออกมาแล้ว เพราะข้างหน้าเราเห็นแล้วว่าสเปคก๊าซตะวันออกตะวันตกจะต่างกันมากขึ้น”

ดังนั้นถ้าติด ECU ได้ การเติม CO2 ก็ต้องเลิกเพราะคนมองว่ากระทบต่อสิ่งแวดล้อม อันนี้ที่เราเติม CO2 เราทำเผื่อให้คนใช้ได้เผื่อผลประโยชน์ของคนที่ใช้รถจริงๆ และที่เราใช้คาร์บอนไดออกไซด์เพราะเรามีไนโตรเจนไม่เพียงพอ ถ้าหากไม่พอ ในที่สุดเราต้องปิดปั้มปตท. จึงเลือกที่จะเติม CO2 ทั้งระบบเพื่อให้ค่าความร้อนต้องอยู่ระหว่าง 37-42 เมกะจูลต่อลูกบาศก์เมตร นี่คือสเปคของกรมธุรกิจพลังงาน

ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ไทยพับลิก้า : อนาคตที่บอกว่าคุณสมบัติก๊าซตะวันออก-ตะวันตกจะห่างกันออกไป จะแก้ปัญหาอย่างไร

คงต้องใช้ ECU มาช่วย ต้องเร่งอย่างแรงให้ออกมาเร็วที่สุด ผมก็เตือนว่าเรามีสเปคที่เติม CO2 อยู่ที่ 18 % ถ้าค่าความร้อนยิ่งห่างออกไปเราจะไม่รอด ถ้าเปรียบเทียบคุณภาพก๊าซประเทศอื่นๆ เขาคุมสเปคเท่ากันทั่วประเทศ อย่างมาเลเซียแต่ของไทยเราพยายามหาแหล่งที่ถูกที่สุดจากพม่า เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าเป็นหลัก โดยยอมให้ค่าความร้อนเป็นเท่านี้ แต่ประเทศมาเลเซียค่าความร้อนเขากำหนดเท่ากันทั่วประเทศ เขาให้ผู้ผลิตลงทุนต้นทุนของมาเลเซียก็แพงกว่า

ไทยพับลิก้า : ทำไมปตท. ไม่ทำให้ค่าความร้อนของก๊าซเท่ากันทั่วประเทศ

ถ้าเท่ากัน การลงทุนสูงค่าใช้จ่ายเรื่องก๊าซเราสูงขึ้นค่าไฟก็จะแพงขึ้นแต่นโยบายเราเลือกเอาเชื้อเพลิงที่ถูก เนื่องจากโรงไฟฟ้าใช้แก๊สเยอะหากเราไปเลือกทรีตก๊าซตะวันตกให้ดีขึ้น ค่าก๊าซตะวันตกจะแพงขึ้นและค่าไฟจะแพงกว่านี้

การปรับคุณภาพก๊าซตะวันตกให้มีค่าความร้อนเท่ากับตะวันออก เรื่องนี้เคยศึกษาพบว่าต้องลงทุนเยอะมากหลายพันล้านบาทและต้องไปลงทุนในพม่าซึ่งมีความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ ถ้าก๊าซมีคุณภาพเท่ากันทั่วประเทศก็เลิกเติม CO2 ได้เกมนี้โอเวอร์เลย

วันนี้เราขายก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 6,800 ตันต่อวัน หรือ 6.8 ล้านกิโลกรัมต่อวัน ปตท. ที่ต้องรับภาระจากการขายก๊าซต่ำกว่าราคาต้นทุนเป็นตัวเลขร่วม 10,000 ล้านบาท มีคนบอกว่าปตท. มีกำไรเยอะแต่มาจากการลงทุนอื่นๆ ของเราส่วนก๊าซเป็นธุรกิจที่ลำบากยากเย็น

“เป็นคำถามที่ดีที่ว่าระยะยาวเราจะเอาอย่างไร ถ้าประเทศเราอยากจะใช้เอ็นจีวีให้ถูกต้อง ต้องทำหลายเรื่อง 1. ใช้ตามแนวท่อ 2. สเปคก๊าซเท่ากันทั่วประเทศเรื่องนี้คือเรื่องใหญ่ เอ็นจีวีที่ใช้ในรถเป็นผู้ใช้ส่วนน้อยเมื่อเทียบคนใช้เยอะคือโรงผลิตไฟฟ้า ต้องถามว่าโรงไฟฟ้ารับได้ไหมที่จะต้องรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพราะเขาก็มีหน้าที่ทำพลังงานไฟฟ้าให้ถูกที่สุดเหมือนกัน แต่ทุกคนมองระยะสั้น ไม่อยากให้ค่าไฟขึ้นเพราะเราอยู่บนฐานแบบนี้มาตลอด ในเมื่อไฟฟ้าก็อยู่ได้แล้ว ทำไมต้องเปลี่ยนให้ก๊าซทั่วประเทศมาตรฐานเดียวกัน เพราะถ้าเปลี่ยนแล้วค่าไฟเพิ่ม และทำไมต้องเปลี่ยนเพื่อให้คนใช้เอ็นจีวีซึ่งเป็นผู้ใช้ส่วนน้อย”

ประเทศไทยเลือกใช้ก๊าซที่มี 2 คุณภาพ คือ 1. พยายามใช้ก๊าซถูกที่สุดเพื่อให้ค่าพลังงานหรือค่าไฟฟ้าถูก จึงทำให้ค่าความร้อนตะวันออกตะวันตกไม่เท่ากัน ดังนั้นการลงทุนเพื่อปรับคุณภาพก๊าซให้เท่ากันทั่วประเทศจะลงทุนเยอะมาก ซึ่งมีผลกระทบค่าไฟเยอะมากเรื่องนี้จึงยังไม่ได้ทำอะไรในการเปลี่ยนแปลงสเปคก๊าซตะวันตก

ถ้าในระยะยาวหากก๊าซขาดมากๆ ทางออกแทนที่จะนำเข้าแอลเอ็นจีทางตะวันออกก็นำเข้าทางตะวันตกแทน ถ้ามีวอลุ่มมากพอมีดีมานด์ต้องมากพอ

ไทยพับลิก้า : วันนี้ปตท. ใช้ CO2 เยอะแค่ไหน

ปตท. จะเติมแค่ส่วนต่างเท่านั้น ตามสเปคต้องมี CO2 ไม่เกิน 18 % ก๊าซตะวันออกมี CO2 แค่ 9 % ดังนั้นจึงต้องใส่เพิ่มอีก 3 % ให้เป็น 12 % เพื่อให้ค่าความร้อนตะวันออกเท่ากับก๊าซตะวันตก

ไทยพับลิก้า : ปตท. ลงทุนถังคาร์บอนเหลวเท่าไหร่

สถานีแม่ 9 แห่ง สถานีริมท่อ 63 แห่ง เฉลี่ยสถานีละประมาณ 6 ล้านบาท เราติดตั้งถังไปประมาณ กว่า 70 แห่งลงทุนไปแล้วประมาณเกือบ 500 ล้านบาท ที่ต้องลงทุนเพราะเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เราต้องแก้

ไทยพับลิก้า : ทำไมข้างถังคาร์บอนไดออกไซด์เหลว ลบชื่อออกหมดเลยทุกสถานีบริการ

อันนี้ไม่ทราบ

ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ดร. เติมชัย บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ไทยพับลิก้า : ECU ที่จะทำต้องลงทุนเท่าไหร่

ตอนนี้ ECU ก็สำเร็จระดับหนึ่งเป็นที่ยอมรับตลาด อย่างมาเลเซียมาซื้อไป ก็คงต้องเร่งเรื่องนี้ ราคาตัวละประมาณหมื่นบาท

ที่ช้าเนื่องจากรถยนต์แต่ละยี่ห้อมีตัวตั้งไฟฟ้าต่างกัน ฉะนั้นเราพยายามทำให้ครอบคลุมให้มากเท่าที่จะทำได้ทุกยี่ห้อ เราคุยกับฝ่ายวิจัยว่าอาจจะให้มีหลายปุ่ม วิ่งตะวันออกกดปุ่มหนึ่ง วิ่งตะวันตกกดปุ่มหนึ่งซึ่งอาจจะไม่สะดวก แต่มันจะออกมาได้เร็วกว่าไม่ต้องกดปุ่มเลยซึ่งไม่กดปุ่มเลยคงต้องวิจัยอีกนาน

“เราพยายามให้ออกมาเร็วที่สุดตอนนี้ เอาแบบที่ใช้ได้จริงๆ เพราะเราไม่อยากเติม CO2 เพราะภาพมันออกมาไม่ค่อยดีอย่างที่คุณว่า แต่วันนี้เราอยากทำให้รถใช้ได้ เพราะหยุดการใช้คงไม่ใช่ทางเลือก คนจะเดือนร้อนเยอะเพราะคนใช้รถยนต์เกือบ 3 แสนคัน”

ไทยพับลิก้า : ต้องเปลี่ยนให้เจ้าของรถยนต์หรือไม่

ยังไม่ได้สรุปว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะเอาไปใช้ รถใหม่ไม่มีปัญหาติดไปเลย รถเก่าต้องไปศึกษาก่อน

ไทยพับลิก้า : ในแง่มาตรฐานของถังและคุณสมบัติของก๊าซที่จะใช้กับถัง

สำหรับถังมาตรฐาน มอก. 2325 หรือ ISO 15500 และ ISO 11439 เป็นถังที่ได้มาตรฐาน ทนแรงดัน 450 บาร์ รับความดันที่ 300 บาร์ โดยที่รูปร่างไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อใช้ติดต่อกัน 15 ปีที่ความดัน 200 บาร์ถังต้องไม่เปลี่ยนและเมื่อมีการตรวจสภาพต้องติดสติกเกอร์ หากใครไม่มีสติ๊กเกอร์ก็จะไม่เติมแก๊สให้ ถังที่ได้มาตรฐานไม่เกิดเรื่องเลย ที่เกิดเรื่องเอาถังเก่ามาใช้และรู้เท่าไม่ถึงการณ์โดยเอามาเชื่อมใหม่ทำให้เกิดระเบิด

ส่วนคุณสมบัติของก๊าซเอ็นจีวีที่สามารถใช้กับถังซีเอ็นจีตามมาตรฐาน ISO 11439 ดังนี้

  1. กรณีก๊าซแห้ง (Dry Gas) : มีไอน้ำน้อยกว่า 32 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหรือประมาณ 2 ปอนด์ต่อล้านลูกบาศก์ฟุต (กล่าวคือที่ -9 องศาเซลเซียส ความดัน 200 บาร์)
    1. ไฮโดรเจนซัลไฟด์และสารละลายซัลไฟด์อื่นๆไม่เกิน 23 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
    2. ออกซิเจน ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
    3. ไฮโดรเจน ไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
  2. กรณีก๊าซเปียก (Wet Gas) : เป็นก๊าซที่มีปริมาณน้ำมากกว่ากรณีก๊าซแห้ง
    1. ไฮโดรเจนซัลไฟด์และสารละลายซัลไฟด์อื่นๆ ไม่เกิน 23 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
    2. ออกซิเจน ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
    3. คาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 4 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร
    4. ไฮโดรเจนไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร

ปัจจุบันก๊าซเอ็นจีวีที่นำมาใช้เป็นก๊าซแห้งจึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการกัดกร่อนที่ถัง

ไทยพับลิก้า : ประเด็นที่นักวิชาการบอกว่าก๊าซปตท. มีไฮโดรเจนซัลไฟด์เกินสเปคที่กำหนดไว้

ถ้าเกินคนที่โวยคือโรงไฟฟ้า เพราะจะไปกัดกร่อนอุปกรณ์เขาไม่ใช่กลุ่มรถยนต์ ถ้าจะมีเกินบ้างคงบางครั้งบางคราวก็อาจจะพุ่งขึ้นไปบ้างแต่คงไม่ตลอด อาจจะเกินอยู่ช่วงหนึ่ง ถามว่าเคยเกินไหมก็น่าจะมีบ้าง

ไทยพับลิก้า : แต่คนยังรู้สึกกังวลว่าไนโตรเจน–คาร์บอนไดออกไซด์จะมีปฏิกิริยาและผลต่อถังแก๊ส

ถ้าเป็นก๊าซแห้ง CO2 ไม่มีปฏิกิริยา เราศึกษาชัดเจนแล้ว และการใส่ CO2 เป็นมาตรการชั่วคราว เราพยายามทำให้ ECU เกิดได้เร็วที่สุด เราทดลองใช้กับรถยนต์ ปตท. ให้เมคชัวร์ว่าปลอดภัยจริงๆ เพราะถ้ารถวิ่งๆ ไปแล้วน้อค แย่เลย

ไทยพับลิก้า : กรณีที่มีน้ำมันของคอมเพรสเซอร์อยู่ในถัง

น้ำมันไปเคลือบเพื่อป้องกันสนิม และรถต้องมีฟิลเตอร์ต้องมีกรองไอคอมเพรสเซอร์อยู่แล้ว

ไทยพับลิก้า : รถยนต์ใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นแค่ไหน

เพิ่มขึ้นทุกวัน วันละ 300 รายและใช้เอ็นจีวี 7 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มเพราะรถเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลต้องจัดการเรื่องราคาด้วย เพราะตอนนี้ปตท. อุดหนุนปีละหมื่นล้านบาท ร่วม 3 หมื่นล้านบาทแล้ว เราอยากให้เอ็นจีวีเป็นทางเลือกและอยู่อย่างยั่งยืน

ตอนนี้แก้ปัญหาโดยการใส่ CO2 หรือทำ ECU ก็ต้องใช้เงินทั้งนั้น เพราะทุกวันนี้กลัวคนวิ่งข้ามโซนมีปัญหา

สุดท้าย ดร. เติมชัยยอมรับเรื่องการเติม CO2 ว่า “มาตรการนี้ ตั้งแต่ผมมารับงานก็ลำบากใจ หากเราไม่ทำ รถจะวิ่งไม่ได้ วิ่งแล้วเกิดปัญหา และปัญหานี้เป็นเรื่องความปลอดภัย