ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทหน้าที่ของรัฐ กับนโยบายลดแลกแจกแถม

บทบาทหน้าที่ของรัฐ กับนโยบายลดแลกแจกแถม

27 กันยายน 2011


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ตามตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (ฟากทุนนิยม) รัฐบาลมักจะถูกมองในแง่ร้าย และไม่ค่อยจะมีคนอยากให้รัฐบาลทำอะไร โดยบอกว่ารัฐบาลควรอยู่เฉยๆ และปล่อยให้เอกชนเขาทำงานไป เพราะมีความเชื่อว่ารัฐบาลไม่สามารถแข่งกับการแข่งขันของเอกชนได้ เพราะรัฐขาดแรงจูงใจในการแข่งขัน และเป็นต้นเหตุของความไม่มีประสิทธิภาพทั้งปวง

รัฐบาลอังกฤษสมัยยุค privatization แหลกลาญ ของนายก Thatcher เคยออกรายงานซึ่งมีข้อความคลาสสิคที่อธิบายว่าทำไม รัฐวิสาหกิจของอังกฤษทำงานแบบไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ได้ทำเพื่อลูกค้า หรือผู้ถือหุ้น หรือแม้กระทั่งพนักงาน โดยบอกว่า “For when the state owns, nobody owns; and when nobody owns, nobody cares.” คือพอมีความรู้สึกว่ารัฐเป็นเจ้าของ ก็เปรียบเสมือนไม่มีใครเป็นเจ้าของ ก็เลยไม่มีใครสนใจ

จึงมีความเชื่อกันว่า รัฐบาลควรทำหน้าที่เฉพาะส่วนที่เอกชนเขาทำไม่ได้

มีคนเคยบอกไว้ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ห้าอย่างกว้างๆ คือ

หนึ่งคือ บังคับใช้กฎหมาย และระเบียบต่างๆ เพื่อรักษาและปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และส่งเสริมการแข่งขัน อันนี้คงไม่ต้องพูดถึง ถ้ารัฐไม่ทำคงยุ่งเชียว

สอง จัดหาสินค้าสาธารณะ ซึ่งหมายถึงสินค้าและบริการที่เราไปห้ามคนอื่นมาได้รับประโยชน์ขณะที่เรากำลังใช้สินค้านั้นไม่ได้ และเราก็บังคับให้เขาจ่ายเพื่อใช้สินค้านั้นๆ ไม่ได้เช่นกัน

ภาคเอกชนอาจจะไม่สามารถจัดหาสินค้าหรือบริการแบบนี้ได้ เพราะจะมีคนมาแอบใช้และไม่จ่ายอยู่เสมอๆ ตัวอย่างคลาสสิคก็เช่น การป้องกันประเทศ การดูแลความเรียบร้อย (ตำรวจ) การทำความสะอาดบ้านเมือง การสร้างถนนหนทาง สวนสาธารณะ

ถ้าเราบังคับให้เอกชนเป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการพวกนี้ และให้ผู้ใช้เป็นคนจ่ายค่าใช้สินค้าและบริการเหล่านี้ รับรองเลยครับต้องมีคนที่ไม่จ่ายแน่ๆ เพราะการ “กัน” เขาออกจากการเข้าถึงสินค้าและบริการในกรณีที่เขาไม่จ่าย ทำได้ยาก (ลองนึกถึงบ้านในหมู่บ้านเรา ที่ไม่ยอมจ่ายค่ายามดูสิครับ เราให้ยามเดินผ่านหน้าบ้านคนนั้นแล้วปิดไฟฉาย หรือปล่อยขโมยเข้าบ้านเขาได้เหรอครับ)

สวนสาธารณะ หรือถนนสาธารณะ คงไม่ได้สร้างกันพอดี ถ้าปล่อยให้เอกชนสร้างและคนใช้จ่ายค่าใช้ทุกครั้ง ด้วยสาเหตุนี้ รัฐจึงควรเป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการพวกนี้

สาม กระจายรายได้ และดูแลผู้ด้อยโอกาสทางสังคม อันนี้เป็นหน้าที่ของรัฐอันนึง เพื่อทำให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานทางสังคมได้อย่างเท่าเทียม เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนทำ คงมีหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะ “ไม่กำไร” พอที่จะเข้าไป

ดังนั้นรัฐจึงมีหน้าที้่เก็บภาษีจากคนที่มีรายได้มาก และนำไปจัดหาบริการให้กับคนที่มีรายได้ต่ำกว่า และเป็นผู้จัดหาบริการพื้นฐาน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ไปรษณีย์ และการให้สิทธิประโยชน์เมื่อชราภาพ หรือตกงาน

ทั้งๆที่บางคนอาจจะเถียงว่าบริการบางอย่างนี้ เอกชนสามารถทำได้เอง (เช่น โรงพยาบาล และโรงเรียนเอกชน) ทำไมรัฐต้องเข้าไปทำแข่งด้วย ผมก็ค้านด้วยเหตุผลทางการเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐานเป็นหลัก

สี่ แก้ไข market failures ซึ่งหมายถึงเงื่อนไขต่างๆที่ทำให้ตลาดการแข่งขันไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้ ยกตัวอย่างเช่น

– ถ้าสินค้ามีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่นสินค้าและบริการมีการลงทุนขั้นแรกสูง หรือมีสภาพไม่เหมาะสมที่จะมีผู้แข่งขันหลายราย เพราะจะทำให้พากันเจ๊งไปหมด หรือต้องใช้ทรัพยากรสาธารณะจำนวนมาก เช่น การสร้างเขื่อน สายส่งกระแสไฟฟ้า ประปา ระบบกำจัดน้ำเสีย ระบบโทรศัพท์ และระบบโทรคมนาคมใหญ่ๆ กิจกรรมเหล่านี้ รัฐบาลมักจะเข้าไปเป็นผู้จัดหาสินค้าและบริการเสียเอง หรือเข้้าไปจัดระบบหาผู้เข้ามาทำให้

– การผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียง ทั้งบวกและลบ ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะบอกว่า การผลิตบุหรี่ สุรา มีต้นทุนทางสังคมอื่นๆที่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในราคาสินค้า การปล่อยให้ผลิตกันเสรี อาจทำให้มีการผลิตมากเกินไป จึงควรจำกัดการผลิต โดยรัฐอาจเข้าไปเป็นผู้ผลิตนั้นเสียเอง เพื่อให้รัฐได้ผลกำไรจากการเป็นผู้ผูกขาดในตลาด (แต่จริงๆแล้วใครได้ประโยชน์จากกำไรนี้?)

หรือการทำงานวิจัยบางประเภท ที่อาจมีผลดีต่อสังคมมาก แต่ไม่มีใครอยากจ่าย ทำให้ไม่มีใครอยากทำ หรือทำไม่เพียงพอ รัฐอาจมีหน้าที่เข้าไปอุดหนุนเพื่อให้มีการผลิตการวิจัย ในระดับที่เหมาะสม

– หากการมีข้อมูลไม่เท่าเทียมกัน ทำให้กลไกตลาดทำงานได้ไม่เหมาะสม รัฐบาลควรเข้าไปเป็นผู้กำกับควบคุม หรือจัดหาข้อมูลเหล่านั้น เช่น การควบคุมการเปิดเผยข้อมูลในตลาดทุน เป็นต้น

และห้า รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คือรัฐมีหน้าที่ และอำนาจในการใช้นโยบายการเงิน และการคลังในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ เช่นในกรณีเศรษฐกิจย่ำแย่ รัฐบาลก็สามารถเพิ่มการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ลดภาษี ตัดดอกเบี้ย เพิ่มปริมาณเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงเกินไปในเวลาเศรษฐกิจรุ่งเรือง

ในขณะเดียวกันรัฐก็ต้องดูแลให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางกฎหมาย

ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเห็นด้วยกับหลักการกว้างๆ แบบนี้ แต่อาจจะต่างกันไปในการตีความ และระดับของการแทรกแซงจากรัฐบาลที่พอรับได้ ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศ

ตัวอย่างเช่นทางยุโรปบางประเทศ อาจกำหนดให้บริการสาธารณสุขทั้งหมดเป็นของรัฐ เพื่อจัดหาบริการให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ในขณะที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนให้เอกชนเป็นคนให้บริการสาธารณสุข รัฐจัดหาโรงพยาบาลรัฐบางแห่งเพื่อให้บริการคนจนเท่านั้น

หรือการให้การประกันทางสังคม ประเทศส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าควรมี แต่ระบบการจัดการก็ต่างกันไป เช่น กรณีเบี้ยเกษียณอายุ บางประเทศเน้นสนับสนุนให้เอกชนเป็นคนเข้ามาทำ เพื่อไม่เป็นภาระต่อรัฐ แต่บางประเทศก็รัฐก็รับเป็นภาระจัดการในส่วนนี้ทั้งหมด โดยเก็บภาษีจากคนทำงาน มาจ่ายให้กับคนแก่ จนเป็นภาระทางการคลังขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีคนเกษียณอายุมากกว่าคนทำงาน

หลักการพวกนี้ยังหมายรวมไปการแทรกแซงจากรัฐบาลอื่นๆด้วย

แม้บางคนจะไม่เห็นด้วยกับหลักการแบบนี้ทั้งหมด แต่ก็น่าจะเอามาใช้ตั้งคำถามก่อนออกโครงการหรือมาตรการของรัฐนะครับ ว่ารัฐควรเป็นผู้เข้าไปทำกิจกรรมนั้นๆหรือไม่ และที่สำคัญที่สุดคือ กิจกรรมนั้นๆ ทำไปเพื่ออะไร (เน้นครับเน้น) ถ้าหลักการและเหตุผลไม่ชัดเจน มาตรการที่ออกมาอาจบิดเบ้ และไม่ตอบโจทย์ของนโยบายได้นะครับ เผลอๆจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยใช่เหตุ

ยกตัวอย่างเช่น ใครช่วยบอกผมหน่อยสิครับ ว่ามาตรการ “คืนภาษีสรรพสามิต” รถยนต์คันแรก ในขณะที่เศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายอะไร คนเข้าคิวรอซื้อรถยนต์กันเป็นเดือนๆ บริษัทรถยนต์ผลิตกันเกือบเต็มศักยภาพอยู่แล้ว อัตราคนว่างงานก็ต่ำ การเร่งให้คนไปซื้อรถยนต์ก็ไม่ได้ช่วยสร้างงาน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเลย แถมยังไม่มีกลไกที่จะห้ามคนรวย เข้ามาแฝงตัวได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ มาตรการแบบนี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำหรือครับ?

เงินที่เอาไปให้คนที่กำลังจะซื้อรถอยู่แล้วฟรีๆ มันเหมือนเอาเงินไปโยนทิ้งน้ำชัดๆ

นี่ยังไม่นับเรื่องความบิดเบือนต่อนโยบายอุตสาหกรรม นโยบายสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร และช่องโหว่ช่องว่างที่รอให้คนเข้ามาหาประโยชน์จากระบบอีกนะครับ

เงินสามหมื่นล้าน หรือมากกว่านั้น เอาไปทำอย่างอื่นได้มากกว่าตั้งเยอะ

ถึงแม้รัฐบาลจะมีเจตนาดี ที่จะช่วยลดภาระแก่ผู้มีรายได้ไม่มากในการครอบครองรถยนต์ (ซึ่งอาจจะบอกได้ว่า เป็นการช่วยการกระจายรายได้) แต่การโยนเงินแบบเหวี่ยงแห มันช่างสิ้นเปลือง ไม่ตรงประเด็น และสร้างภาระทางการคลังแบบปลายเปิด โดยที่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยคนมีรายได้น้อยได้จริงๆหรือไม่

และถ้าบอกว่าเป็นการช่วยลดภาระให้แก่ประชาชน ทำไมไม่ทำให้เป็นนโยบายถาวรไปเลยละครับ? มันมีอะไรที่พิเศษในช่วงหนึ่งปีกับสามเดือนนี้ ที่ทำให้การซื้อรถเป็นภาระมากกว่าเมื่อสองเดือนที่แล้ว กับหนึ่งปีถัดจากนี้?

อย่าให้ผมเริ่มเรื่องมาตรการภาษีบ้านอีกนะครับ เพื่ออะไรผมพอเข้าใจได้ แต่ผมก็ยังคิดไม่ออกว่าทำเพื่อใคร

ผมว่าด้วยงบประมาณที่มีอยู่ และปัญหาที่ดูเหมือนจะรุมเร้าเข้ามาทุกขณะจากภาวะเศรษฐกิจโลก รัฐบาลเก็บกระสุนไว้ก่อนดีกว่าไหมครับ อย่าเพิ่งยิงกันจนกระสุนหมด เดี๋ยวเจอโจรวิ่งเข้ามาหาจริงๆ เดี๋ยวจะไม่มีกระสุนจะใช้นะครับ