ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนรอย 10 ปีข่าวจำนำข้าว ย่ำอยู่กับที่ “ล้อมคอก-ทุจริต”

ย้อนรอย 10 ปีข่าวจำนำข้าว ย่ำอยู่กับที่ “ล้อมคอก-ทุจริต”

27 กันยายน 2011


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ทุกปีที่เปิดรับจำนำข้าว จะมีข่าวในลักษณะป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงขู่การลงโทษที่รุนแรง การให้รางวัลนำจับ การขอกำลังทหารตรวจหากทุจริต และเปิดโปงแฉกระบวนการทุจริตจำนำข้าว ข่าวดังกล่าวหนังสือพิมพ์มักใช้พาดหัวข่าวด้วยคำว่า ล้อมคอกโกงจำนำข้าว อุดช่องโหว่ทุจริตจำนำข้าว ปรับเงื่อนไขป้องกันการทุจริต ติวเข้มรับมือโกงจำนำข้าว หรือคุมเข้มทุจริตจำนำ

“รัฐบาลดีแต่โม้” ฉายาที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ตั้งให้กับรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ระหว่างเปิดโต๊ะแถลงข่าววิพากษ์นโยบายจำนำข้าวเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา กลายเป็นคำท้าทายมายังทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล

โดยเฉพาะ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการรับจำนำข้าวโดยตรง

ความท้าทายไม่เพียงจะต้องผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้จริง แต่ต้องรับมือกับหนึ่งในปัญหาที่มักมาพร้อมกับโครงการจำนำข้าวเสมอคือข้อครหา “การทุจริตในทุกขั้นตอน”

นายกิตติรัตน์ การันตีอย่างเปิดเผย ตั้งแต่เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นวันแรก ระหว่าง 3 วัน ของการอภิปรายการแถลงนโยบายของรัฐบาล และวันถัดๆ มา ในเรื่องปัญหาการทุจริตจำนำข้าว

“การประกันราคาข้าว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพอใจหมด ยกเว้นรัฐบาลที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยราคาให้เกษตรกร แม้จะเป็นนโยบายที่ดี แต่ก็ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวขึ้นได้ ดังนั้นรัฐบาลนี้จะพยายามเพิ่มรายได้เกษตรกร และทำให้ราคาข้าวไทยเพิ่มขึ้น ส่วนการทุจริตในโครงการรับจำนำนั้น ยืนยันว่าไม่มีแน่นอน” (เดลินิวส์ 18 สิงหาคม 2554)

“ขนาดที่ทุจริตกัน (รับจำนำข้าว) งบประมาณที่ใช้ยังน้อยกว่าไม่ทุจริต (ประกันราคาฯ) เลย ค่าที่หายไปจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร เพราะไม่มีคนสนใจว่าราคาข้าวควรได้ราคามากกว่านี้หายไปเยอะ แต่พูดครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะปล่อยปละละเลยนะ ก็ต้องดูว่าที่ผ่านมาทุจริตเพราะอะไรก็ไปอุดตรงนั้น” (ไทยรัฐ ออนไลน์ 31 สิงหาคม 2554)

“ผมไม่ได้เป็นสมรักษ์ คำสิงห์ แต่สัญญาว่าจะโม้ต่อไป โม้ไปทำไป และสัญญาว่าจะทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทำให้ชาวนามีรายได้ดีขึ้นและเป็นภาระงบประมาณน้อยที่สุด แต่ทำให้เกษตรกรได้ราคาสูงสุด” (กรุงเทพธุรกิจ 7 กันยายน 2554)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ภาพ Prachachat.net
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภาพ Prachachat.net

นายกิตติรัตน์ จะทำได้ดีแค่ไหนกับการรับมือทุจริต เพราะเขาไม่ใช่รัฐมนตรีคนแรก ที่ประกาศก้องจะขจัดทุจริตให้หมดไปจากโครงการจำนำข้าว ช่วง 10 ปีที่ผ่านรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการรับจำนำข้าวก็ประกาศเช่นเดียวกัน สุดท้ายไม่เคยมีใครรักษาคำมั่นสัญญาได้เลย

จากการรวบรวมข้อมูลสถิติข่าวทุจริต และคำประกาศล้างบางทุจริตของรัฐบาลต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ทุกปีที่เปิดรับจำนำข้าวจะมีข่าวในลักษณะป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงขู่การลงโทษที่รุนแรง การให้รางวัลนำจับ การขอกำลังทหารตรวจหากทุจริต และเปิดโปงแฉกระบวนการทุจริตจำนำข้าว ข่าวดังกล่าวหนังสือพิมพ์มักใช้พาดหัวข่าวด้วยคำว่า ล้อมคอกโกงจำนำข้าว อุดช่องโหว่ทุจริตจำนำข้าว ปรับเงื่อนไขป้องกันการทุจริต ติวเข้มรับมือโกงจำนำข้าว หรือคุมเข้มทุจริตจำนำข้าว เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น ยังพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ข่าวซ้ำในวันเดียวกันนับเป็น 1 ข่าว) ปีที่มีการพาดหัวข่าวโดยใช้คำดังกล่าวมากที่สุดคือ ปี 2551 จำนวน 16 ข่าว ตัวอย่างเช่น ผู้ว่าฯ พิจิตรประกาศตั้งรางวัลจับโกงข้าว/สกัดทุจริตรับจำนำ( ผู้จัดการออนไลน์ ,12 มิถุนายน 2551) ธ.ก.ส.เข้มล้อมคอกทุจริตจำนำข้าว ( บ้านเมือง, 17 มิถุนายน 2551) อตก.ป้องกันเข้มโกงจำนำข้าว ฟุ้งทุกขั้นตอนรัดกุมโปร่งใสตรวจสอบได้ ( แนวหน้า,5 กันยายน 2551) และข่าว หวั่นโกงจำนำข้าวล้อมคอกขอทหารเฝ้า (นสพ.ไทยโพสต์ , 29 ตุลาคม 2551) เป็นต้น

แต่ในปีเดียวกันก็มีข่าวทุจริตจำนำข้าว เช่น ข่าวเชือดชาวนา-พ่อค้าโกงจำนำข้าว (เว็บไซต์ข่าวสด , 6 กรกฎาคม 2551) แฉทุจริตจำนำข้าวนาปรัง พบปลอมปนร่วมแสนตัน ( โพสต์ ทูเดย์, 23 กันยายน 2551) และข่าว ธ.ก.ส. แฉทุจริตจำนำข้าว สอดไส้กินส่วนต่างราคา (เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ, 14 ตุลาคม 2551) เป็นต้น

สำหรับปีที่มีการทุจริตเกิดขึ้นเป็นข่าวมากสุดคือปี 2547 จำนวน 18 ข่าว ตัวอย่างเช่น พิจิตรฉาวโกงจำนำข้าวภาครัฐ วัฒนา เตรียมเชือด เจอ 2 โรงกว่า 5 หมื่นกระสอบ (นสพ.บ้านเมือง , 24 กุมภาพันธ์ 2547) ยิ่งสาวยิ่งพบแก๊งทุจริตจำนำข้าว แจ้งจับ ‘บิ๊ก’ อตก. พัวพันทุจริตจำนำข้าว (เว็บไซต์ไทยรัฐ, 9 มีนาคม 2547) และข่าวพาณิชย์เชือด 2 โรงสีทุจริตจำนำข้าว (เว็บไซต์เดลินิวส์, 17 มีนาคม 2547) เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่า การทุจริตจำนำข้าวหรือโกงจำนำข้าวที่ตกเป็นข่าว ส่วนใหญ่พาดพิงตั้งแต่เกษตรกร หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ โรงสี ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว(เซอร์เวร์เยอร์) และนักการเมือง

ตัวอย่างเช่น ข่าว วังน้ำเย็นแฉ เด็ก”อดิศัย” โกงจำนำข้าว (เว็บไซต์คมชัดลึก ,14 พฤศจิกายน 2545) เด็กทรท.ดิ้นพล่าน โวยอลงกรณ์ป้ายสี โยงโกงจำนำข้าว ท้าเดิมพันเก้าอี้สส. (แนวหน้า, 16 มกราคม 2546) ลากคอโรงสีดงเจริญทุจริตจำนำข้าว (นสพ.เดลินิวส์ , 5 ธันวาคม 2545) “ทักษิณ”จี้เอาผิดถึงที่สุด แฉ”บริษัทเซอร์เวเยอร์” หาเงินให้นักการเมือง (เว็บไซต์มติชน , 23 กุมภาพันธ์ 2547) สอบแก๊งอคส. แจกสติ๊กเกอร์ โกงจำนำข้าว ( เว็บไซต์ไทยโพสต์, 13 ตุลาคม 2548) สรุปคดีโกงจำนำข้าวพิจิตร-จนท.รัฐเอี่ยว ( เว็บไซต์มติชน , 14 พฤศจิกายน 2549) และข่าวพาณิชย์ฟันเพรซิเดนท์ฯเซ่นเบี้ยวสัญญา ( เว็บไซต์ข่าวสด, 28 สิงหาคม 2550) 13. เชือดชาวนา-พ่อค้าโกงจำนำข้าว (เว็บไซต์ข่าวสด, 6 กรกฎาคม 2551) และข่าวส่งทีมไล่จับโรงสีทุจริตจำนำข้าว (นสพ.โพสต์ ทูเดย์ , 6 กรกฎาคม 2552)

นอกจากนี้ ในการสุ่มตัวอย่างข่าวทุจริตจำนำข้าว หรือโกงจำนำข้าว ช่วง 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 2545-2554 พบว่า ทุกปีมีข่าวเกี่ยวกับการจำนำข่าวเกิดขึ้นทุกปี แม้แต่ปี 2553 ที่ไม่มีนโยบายรับจำนำข้าว แต่ก็มีข่าวเรื่องนี้ปรากฎ 1 ข่าวคือ ป.ป.ช.ชงครม.แก้ลำทุจริตจำนำข้าว (นสพ.ไทยโพสต์,17 ธันวาคม 2553) และข่าวทุจริตโครงการประกันรายได้ ที่เพิ่งนำนโยบายนี้มาใช้ 1 ข่าว ได้แก่ ผู้ว่าฯสั่งล่าตัวการโกงประกันข้าวแฉชาวนา-จนท.รวมหัวแจ้งเท็จ ( ASTV ผู้จัดการรายวัน, 3 ธันวาคม 2553) เป็นต้น

จากข่าวที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่าการทุจริตจำนำข้าวเป็นปัญหาใหญ่ ที่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนสามารถสะสางหรือแก้ปัญหานี้ได้เลย

ขณะที่ปี 2554 ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 1 เมื่อสุ่มตรวจสอบข่าวในลักษณะเดียวกัน พบว่า มีข่าวเกี่ยวพันกับความกังวลเรื่องทุจริตปรากฎอย่างหนาตาพอควร

อาทิ ส.โรงสีข้าวฯ หวั่นนโยบายรับจำนำข้าวเปิดช่องทุจริต (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ , 6 กรกฎาคม 2554) จับตาขบวนการทุจริตจำนำข้าวคืนชีพ ( นสพ.โพสต์ ทูเดย์, 11 กรกฎาคม 2554) และ ฟื้นรับจำนำข้าว บูรณาโกงคืนชีพ ( นสพ. ไทยรัฐ 16 กรกฎาคม 2554) เป็นต้น

เช่นเดียวกับทุกครั้ง ข่าวประเภทตั้งรับหรือเตรียมพร้อมเพื่อสนองนโยบายรัฐบาล ก็มีให้เห็น เช่นมีการพาดหัวข่าวว่า ผู้ว่าฯพิจิตรเด้งรับ “จำนำข้าว” รัฐบาล “เจ๊ปู” เรียก จนท.เตรียมพร้อมแล้ว (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4 กรกฎาคม 2554) เกษตร จ.พิจิตรอบรมเจ้าหน้าที่เตรียมรับมือนโยบายจำนำข้าว (นสพ.บ้านเมือง, 7 กรกฎาคม 2554) พาณิชย์พิษณุโลก เด้งรับ“จำนำข้าว”ลุยตรวจ 9 โรงสีรวมข้อมูลรอ รบ.ใหม่ (ASTV ผู้จัดการออนไลน์ , 21 กรกฎาคม 2554) และข่าว ปลัดพาณิชย์ ลั่นนโยบายจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน พ่อค้าอย่าฉวยโอกาสกักตุน ใครป่วนตลาดเจอโทษอาญา ( มติชนออนไลน์ , 24 กรกฎาคม 2554) เป็นต้น

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในข่าว เป็นความท้าทาย “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ในฐานะผู้รับผิดชอบจะดีแต่โม้หรือไม่!