ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > การเมืองเรื่องข้าว (2) : เมื่อรัฐบาลกลายเป็น..มาเฟียค้าข้าว

การเมืองเรื่องข้าว (2) : เมื่อรัฐบาลกลายเป็น..มาเฟียค้าข้าว

12 กันยายน 2011


ยิ่งรัฐขยายขอบเขตการแทรกแซงตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ไม่มีเส้นสาย ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแทรกแซง ก็จะมีความเสียเปรียบในการแข่งขัน บางรายต้องเลิกกิจการผันตัวเองไปทำกิจการอื่น บางรายก็ต้องวิ่งเต้นหาทางเข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร (นิพนธ์ พัวพงศกร : การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรกับการกระจุกตัวของผลตอบแทนส่วนเกิน 2552)

แนวคิดนโยบายรับจำนำข้าวแบบตั้งราคารับซื้อเสมอ หรือสูงกว่าราคาตลาด ซึ่่งเริ่มต้นในสมัยพรรคไทยรักไทย เป็นมรดกตกทอดมาถึงพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ได้สร้างความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดข้าวเป็นอย่างมาก เพราะนโยบายประชานิยมที่เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นด้วยการรับจำนำข้าวสูงถึงตันละ 15,000 บาท และถ้าขยายโครงการรับจำนำแบบไม่อั้น หรือรับจำนำทุกเม็ด อาจทำให้รัฐกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ หรือรัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดค้าข้าวเลยทีเดียว

เนื่องจากเกษตรกรจะแห่กันเข้าโครงการรับจำนำข้าว และเมื่อครบกำหนดไถ่ถอนก็ทิ้งจำนำไม่มาไถ่ข้าวคืน เพราะราคาตลาดต่ำกว่าราคารับจำนำ นั่นหมายความว่า รัฐบาลจะมีข้าวอยู่ในสต็อกจำนวนมโหฬารจะระบายขายออกอาจกระทบราคาข้าวในตลาดหรือถ้าเก็บไว้นานก็เจอปัญหาคุณภาพข้าวเสื่อม เมื่อขายออกก็ขาดทุน

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ภาคเอกชนที่ค้าข้าวหรือแม้แต่นักเศรษฐศาสตร์อย่าง ดร. นิพนธ์ พัวพงศธร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกิดความเป็นห่วงว่า รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะหวนกลับไปใช้วิธีเดิมที่เคยเป็นกรณีเกิดขึ้นในสมัยพรรคไทยรักไทยที่มีนายวัฒนา เมืองสุข เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นั่นคือ กรณีเปิดประมูลขายข้าวให้ล็อตใหญ่ในปี 2547 ที่บริษัทเพรสซิเดนท์อะกรี จำกัด ผู้ส่งออกข้าวรายใหม่และเป็นบริษัทเล็กๆ ที่สามารถชนะประมูลได้ข้าวไปถึง 1.68 ล้านตัน โดยเสนอราคาประมูลที่สูงกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ และสูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้น

หลังจากบริษัทเพรสซิเดนท์อะกรี ชนะประมูลข้าวแล้ว ในฤดูการผลิตต่อมารัฐบาลประกาศปรับเพิ่มราคารับจำนำข้าวเปลือก ทำให้เอกชนค้าข้าวรายอื่นๆ เริ่มถึงบางอ้อว่าทำไมบริษัทเล็กๆ ถึงกล้าเสนอราคาสูงกว่าราคาตลาดมาก เพราะจากการประกาศเพิ่มราคารับจำนำเพิ่มสูงขึ้นอีกนั้น เท่ากับว่าจากที่บริษัทเพรสซิเดนท์อะกรีซื้อข้าวไปในราคาแพง กลายเป็นซื้อของถูกขึ้นมาทันที และนโยบายดังกล่าวส่งผลให้บริษัทค้าข้าวทั่วไปกลับเจอปัญหาข้าวเปลือกราคาแพง ทำให้ต้องหันไปซื้อข้าวกับบริษัทเพรสซิเดนท์อะกรี ที่กลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ภายในระยะเวลาอันสั้น

นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้ว ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่ภาคเอกชนในวงการค้าข้าวเป็นห่วง และเคยเกิดขึ้นในอดีต คือ เมื่อรัฐบาลมีข้าวในสต็อกจำนวนมาก ถึงเวลาหนึ่งก็ต้องระบายออก เพราะจะมีข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากการรับจำนำ และหากเก็บข้าวไว้นานคุณภาพข้าวก็เสื่อม แต่รัฐบาลจะประกาศขายในราคาที่รับจำนำมาก็รู้ดีว่าขายไม่ได้ เพราะบริษัทค้าข้าวคงไม่เข้าประมูลซื้อ จึงจำเป็นต้องระบายขายข้าวราคาถูก โดยอ้างว่า เป็นข้าวเก่าที่เสื่อมแล้ว

แหล่งข่าวจากวงในค้าข้าวบอกว่า จริงๆ แล้วข้าวที่รัฐบาลเปิดประมูลในราคาต่ำกว่าราคารับจำนำ โดยอ้างว่าเป็นข้าวเก่าที่เสื่อมคุณภาพแล้วนั้น ความจริงเป็นข้าวใหม่หรือถ้าข้าวเก่าก็เป็นข้าวคุณภาพดี ซึ่งราคาแพงกว่าข้าวใหม่ด้วยซ้ำ เพราะถ้ารัฐบาลเอาข้าวเก่าที่เสื่อมคุณภาพแล้วมาขาย ก็คงไม่มีโรงสีหรือบริษัทค้าข้าวรายใดเข้าประมูลซื้อ เนื่องจากผู้ประกอบการรู้ดีว่า ถ้าเอาข้าวไม่ดีไปขายก็ขายไม่ได้ราคาและอาจขาดทุนได้

แต่ปัญหาคือ ในการประมูลขายข้าวราคาถูกนั้น จะมีบริษัทเอกชนที่ค้าข้าวเพียงไม่กี่รายสามารถเข้าถึงการประมูลและชนะการประมูลได้ข้าวราคาถูกไปหรืออาจกล่าวได้ว่า ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ตลาดค้าข้าวอาจตกอยู่ในมือของบริษัทไม่กี่รายที่เข้าถึงกลุ่มอำนาจทางการเมือง

แหล่งข่าววงในการค้าข้าว ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า สมมติราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ตันละ 20,000 บาท รัฐบาลอาจยอมขายขาดทุนที่ตันละ 10,000 บาท แต่บริษัทที่เข้าประมูลจะเสนอราคาประมูลสูงกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ เช่น อาจประมูลในราคาตันละ 12,000 บาท ก็ชนะประมูลไป และนำข้าวไปขายได้ในราคาตลาดตันละ 20,000 บาท ส่วนต่างที่ได้กำไร 8,000 บาท ในวงการค้าข้าวรู้กันวงในว่า มีการแบ่งผลประโยชน์กันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับผู้ที่ชนะประมูล

วิธีการดังกล่าวเป็นที่ทราบกันดีของผู้ประกอบการค้าข้าว โดยบริษัทเอกชนค้าข้าวบางรายก็เล่นเกมนี้ด้วย ซึ่งแหล่งข่าวในวงการค้าข้าวบอกว่า บริษัทค้าข้าวมีเป็นร้อยบริษัท บริษัทที่เล่นเกมนี้ เพราะต้องการอยู่รอดหรือสูญหายไปจากตลาด โดยถ้าเป็นรายเล็กๆ ก็ต้องดิ้นรนให้อยู่รอด ซึ่งมีรายเล็กๆ หลายรายเข้าไม่ถึงต้องปิดกิจการไปก็เยอะ ส่วนรายใหญ่ๆ ไม่ต้องการสูญเสียความเป็นผู้นำตลาด ก็กระโดดเล่นเกมนี้ด้วยเหมือนกัน

“รัฐบาลควรมีหน้าที่ดูแลความยุติธรรม สร้างความโปร่งใส โดยปล่อยให้เอกชนทำธุรกิจแข่งขันกันแบบปกติตามกลไกตลาด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลเป็นคนกำหนดทุกอย่าง เป็นผู้วางเกมและส่งเสริมให้เกิดคอร์รัปชั่น เล่นแบบนี้เอกชนที่ไม่มีพวกพ้องหรือเครือข่ายทางการเมืองก็ลำบาก ถูกเอาเปรียบ ในที่สุดแข่งขันไม่ได้ก็ล้มหายตายจากกันไป” แหล่งข่าววงในค้าข้าวกล่าว

ในขณะที่การระบายสต็อกข้าวล่าสุดในสมัยที่นางพรทิวา นาคาศัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำที่มีการเปิดประมูลข้าวถึง 7 ครั้ง รวมเป็น 3.16 ล้านตัน ก็ไม่ได้ใช้การเปิดประมูลเป็นการทั่วไป แต่ใช้วิธีคัดเลือกผู้ส่งออกมาเจรจาโดยตรงและขายเป็นล็อตใหญ่ โดยอ้างว่า เป็นการป้องกันผลกระทบต่อตลาดข้าวในประเทศ

แหล่งข่าววงในการค้าข้าว บอกว่า ปัญหาเรื่องการระบายสต็อกข้าวของรัฐบาลเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องปรับปรุงแก้ไข โดยการเปิดประมูลต้องโปร่งใส มีการออกกฎกติกาที่ชัดเจนและเป็นธรรม หากทำเหมือนที่ผ่านมา รัฐบาลก็จะกลายเป็นผู้ค้าข้าวรายใหญ่ที่มีอิทธิพลในตลาดข้าวมากที่สุด

ทั้งนี้ การอนุมัติขายข้าวสมัยนางพรทิวา นาคาศัย เป็นรมว.พาณิชย์ รวม 3.16 ล้านตัน ในปี 2553 ได้แก่

วันที่ 28 ก.ค. อนุมัติขายให้บริษัทเอเชีย โกลเด้นไรซ์ 362,543 ตัน

วันที่ 6 ส.ค. ขายให้กับบริษัทข้าวไชยพร 431,850 ตัน

วันที่ 16 ส.ค. ขายให้กับบริษัทแคปปิตอล 508,695 ตัน หนองลังกาฟาร์ม 7,636 ตัน

วันที่ 30 ส.ค. ขายให้กับบริษัทพงษ์ลาภ 286,826 ตัน บริษัทเอ็มที เซ็นเตอร์เทรด 845,783 ตัน บริษัทไทยฟ้า 2511 ปริมาณ 250,000 ตัน

วันที่ 22 ก.ย. ขายให้กับบริษัทเอชบีดี ฮาบิดะห์ 83,279 ตัน บริษัทเจียเม้ง 32,000 ตัน บริษัทเค ดับบลิว เอ็ม อินเตอร์ เนชั่นแนล 200,000 ตัน

วันที่ 11 ต.ค. ขายให้กับบริษัทเอชบีดีฮาบิดะห์ 8,694 ตัน บริษัทเอ็มที 5,343 ตัน

และล่าสุด วันที่ 27 ต.ค. ขายให้กับบริษัทเอชบีดีฮาบิดะห์ 144,830 ตัน และบริษัทเจียเม้ง 393 ตัน

“ยิ่งรัฐขยายขอบเขตการแทรกแซงตลาดมากขึ้น ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ไม่มีเส้นสาย ไม่ได้เข้าร่วมโครงการแทรกแซงก็จะมีความเสียเปรียบในการแข่งขัน บางรายต้องเลิกกิจการผันตัวเองไปทำกิจการอื่น บางรายก็ต้องวิ่งเต้นหาทางเข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร” (นิพนธ์ พัวพงศกร : การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรกับการกระจุกตัวของผลตอบแทนส่วนเกิน 2552)