ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > แกะรอยเงินทุนไหลออก ปลายทางสุดท้ายไปอยู่ที่ใด

แกะรอยเงินทุนไหลออก ปลายทางสุดท้ายไปอยู่ที่ใด

28 กันยายน 2011


ที่มา : http://biggovernment.com/files/2011/09/20110805_nyse_trader_stocks_23.jpg

ปี 2554 เป็นปีแห่งความทรงจำของนักลงทุนอีกปีหนี่ง

แรงกระแทกจากข่าวลบต่างๆ ที่โหมกระหน่ำใส่ตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะความรุนแรงของวิกฤตหนี้กรีซที่ส่อแววจะผิดนัดชำระหนี้ อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการเงินทั้งในสหภาพยุโรปและสหรัฐ ทุบบรรยากาศการลงทุนให้เลวร้ายลงอย่างฉับพลัน เม็ดเงินจำนวนมากไหลบ่าออกจากตลาดการเงินโลกอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างข้อมูลอินเวสต์เมนต์ คอมพานี อินสติติวต์และอีพีเอฟอาร์ โกลบอล ซึ่งติดตามการเคลื่อนย้ายของเงินทุนทั่วโลก โดยระบุว่า นักลงทุนได้ถอนเม็ดเงินลงทุนออกจากกองทุนตลาดหุ้นสหรัฐประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมานับถึงวันที่ 30 เมษายนปีนี้ สูงกว่าระดับเงินทุนไหลออก 7.28 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส

เมื่อบวกเม็ดเงินของกองทุนประเภทนี้เข้ากับการเทขายของนักลงทุนกลุ่มอื่นๆ ในตลาดหุ้นสหรัฐพบว่า มูลค่าตลาดหุ้นสหรัฐหายไปประมาณ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ (ข้อมูลนับถึงวันที่ 19 กันยายน 2554)

ขณะที่รายงานของทอมสัน รอยเตอร์ส ลิปเปอร์ให้ข้อมูลการถอนตัวจากกองทุนตลาดหุ้นสหรัฐของนักลงทุน เฉพาะในช่วง 1 สัปดาห์นับถึงวันที่ 21 กันยายนมีมูลค่าทั้งสิ้น 4.6 พันล้านดอลลาร์

ปรากฏการณ์เงินทุนไหลออกไม่ได้เกิดขึ้นในสหรัฐประเทศเดียว แรงกระชากเงินกลับยังพบในตลาดเกิดใหม่แทบจะทั่วโลกด้วย โดยเฉพาะในเอเชีย

รอยเตอร์สรายงานว่า ในช่วงวันที่ 19 กันยายน มีข่าวแพร่สะพัดว่า มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิสปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินของอิตาลีลง 1 ขั้น และปรับลดแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อเป็นเชิงลบด้วย มีเงินไหลออกจากตลาดหุ้นจาการ์ตารวม 88.9 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ไหลออกจากตลาดหุ้นมะนิลา 11.7 ล้านดอลลาร์และตลาดหุ้นกัวลาลัมเปอร์ 28.1 ล้านดอลลลาร์

นอกจากนี้ เอชเอสบีซียังประเมินว่า ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนกันยายนมีนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรอิโดนีเซียประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์

ต่างชาติทิ้งหุ้นไทย 9 เดือน เกือบ 4 หมื่นล้านบาท

ในไทย ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยระบุว่า เฉพาะวันที่ 26 กันยายนซึ่งเป็นวันที่ตลาดหุ้นผันผวนมากที่สุดวันหนึ่ง และระหว่างการซื้อขายดัชนีหุ้นไทยดิ่งลงเกือบ 10% พบนักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นรวม 3.07 พันล้านบาท และเทขายระหว่างวันที่ 1-26 กันยายนรวม 1.89 หมื่นล้านบาท แต่หากนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 26 กันยายน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 3.77 หมื่นล้านบาท

แม้แต่ในตลาดตราสารหนี้ซึ่งเคยเป็นที่พักเงินของนักลงทุนต่างประเทศ นักลงทุนก็ขนเงินออก ดังข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยซึ่งระบุว่า ในช่วง 1-22 กันยายน มีนักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรสุทธิ 4,300 ล้านบาท

ต่อประเด็นปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรป นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังได้กล่าวว่าถ้าเจรจากันไม่จบในช่วงต่ออายุพันธบัตรอาจจะทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนในยุโรปรวมทั้งประเทศอื่นๆวูบตาม และทำให้เกิดปัญหาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจบานปลายจนกระทบความเชื่อมั่นหรือทำให้เกิดปัญหา “Crisis of confident”

ขณะที่ดร. อัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถีรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่านักลงทุนต่างชาติขายทิ้งเพื่อนำไปชดเชยการขาดทุนในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงทองคำที่ราคาตก ก็มาจากเหตุผลเดียวกัน

เงินไหลออกไปไหน

เงินไหลออกอย่างรวดเร็วจากตลาดหุ้นและพันธบัตรเกือบจะทั่วโลก เงินเหล่านี้หายไปไหน

แน่นอนว่า ย่อมไม่ใช่ตลาดทองคำหรือค่าเงินบางสกุลที่นักลงทุนเคยไปพักเงินไว้ยามความเสี่ยงมาเยือน เพราะความอลหม่านในตลาดหุ้นได้ทำให้ค่าเงินที่เคยได้ชื่อว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดียิ่งให้กับนักลงทุน อย่างเงินฟรังก์ของสวิสหรือทองคำกลับพลิกผันไปด้วย

ในกรณีเงินฟรังก์ของสวิสนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากค่าเงินทรุดอย่างรวดเร็วตามการอ่อนค่าของยูโร เดิมเงินสกุลหลักของสวิสผูกกับเงินยูโรไว้ที่ 1.20 ฟรังก์ต่อยูโร แต่ในช่วงที่ตลาดผันผวน ค่าเงินยูโรทรุดฮวบลงประมาณ 8%

จากภาพข้างล่างบ่งชี้ว่า นักลงทุนเก็งกำไรข้างดอลลาร์ โดยลงทุนซื้อดอลลาร์และขายเยนมากกว่าซื้อเยนขายดอลลาร์ ในสัดส่วน 84.97 % ต่อ 15.49 % เช่นเดียวกับสัดส่วนการลงทุนในดอลลาร์สหรัฐ (USD) กับฟรังก์ของสวิตเซอร์แลนด์ (CHF) ที่นักเก็งกำไรเทเงินลงทุนซื้อดอลลาร์และขายฟรังก์ มากกว่าซื้อฟรังก์และขายดอลลาร์ ในสัดส่วนธุรกรรม 55.60 % ต่อ 44.40 %

ในส่วนของธุรกรรมยูโร (EUR) เทียบดอลลาร์ นักลงทุนยังซื้อยูโร มากกว่าขายในสัดส่วน 54.55 % และ 45.45 % เช่นเดียวกับเงินปอนด์เทียบดอลลาร์ ซึ่งนักลงทุนลงทุนซื้อปอนด์มากกว่าขายสัดส่วน 64.74 % ต่อ 35.26 %

ที่มา : http://www.businessinsider.com/chf-vs-gold-vs-ust-vs-jpy-2011-9

เช่นเดียวกับทองคำ ในช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนรุนแรง โดยเฉพาะสองสัปดาห์ที่ผ่านมานับถึงวันที่ 26 กันยายน ทองคำกลับไม่ใช่ปลายทางที่ปลอดภัยสำหรับการลงทุน ราคาทองร่วงมากกว่า 385 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากระดับสูงสุดและซื้อขายกันที่ระดับประมาณ 1,531.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนจะดีดกลับขึ้นมา 140 ดอลลาร์ต่อออนซ์มาอยู่ที่ระดับราคา 1,671.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สถานการณ์ที่ทองคำเผชิญอยู่นี้แทบจะไม่แตกต่างจากปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤตการเงินครั้งล่าสุด ราคาทองคำได้ลดลงจากระดับสูงสุด 1,000 ดอลลาร์ต่อปอนด์ไปอยู่ที่ 700 ดอลลาร์ต่อปอนด์ในเดือนตุลาคมของปีนั้น

ดอลลาร์ยังเป็น safe haven

ทั้งนี้ในตลาดการเงินคาดการณ์ว่า ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปยังไม่จบในเร็วๆ นี้และตราบใดที่ยุโรปยังไม่มีแนวทางแก้ปัญหาหนี้สาธารณะอย่างเบ็ดเสร็จสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดเงินคือ นักลงทุนจะหันกลับไปถือเงินดอลลาร์ ทั้งที่เศรษฐกิจอเมริกายังไม่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับปรากฏการณ์เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจอเมริกายังย่ำแย่ ดร. อัจนามองว่า เมื่อนักลงทุนรู้สึกว่ามีความเสี่ยงเกิดขึ้นจะหันกลับไปถือเงินดอลลาร์ เพราะเชื่อว่าเงินดอลลาร์เป็น “safe haven” หรือสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยที่สุดเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ในขณะนี้

จากข้อมูลของอินเวสต์เมนต์ คอมพานี อินสติติวต์ทำให้รู้ว่า เงินที่ไหลออกจากตลาดหุ้นสหรัฐเกือบ 2 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 1 สัปดาห์นับถึงวันที่ 14 กันยายนได้ไหลเข้าสู่กองทุนที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้นถึง 3.85 พันล้านดอลลาร์ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน เม็ดเงินเหล่านั้นส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะยาว โดยเฉพาะพันธบัตรกำหนดไถ่ถอน 30 ปี

นอกเหนือจากลงทุนในพันธบัตรแล้ว นักลงทุนพอใจที่จะถือเงินบางส่วนเป็นเงินสดไว้ในมือ ซึ่งนิค เทรเวธาน นักวิเคราะห์ตลาดโภคภัณฑ์จากเอเอ็นซี แบงก์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้ เงินคือพระเจ้า เพราะไม่มีการซื้อขายในตลาดใดที่ถือว่าปลอดภัยอีกต่อไป แม้ทองคำยังเป็นที่หลบภัยอยู่แต่ก็ไม่ปลอดภัยที่จะซื้อขายในเวลานี้ ดังนั้น นักลงทุนจึงพยายามออกจากทุกสิ่งเพื่อถือเงินสดและรอคอยจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น (It’s a dash for cash …)

หุ้นพื้นฐานเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่นักลงทุนใช้เป็นที่พักเงิน โดยหนึ่งในหุ้นพื้นฐานที่คนเทเงินให้คือ หุ้นบริษัทแอปเปิล บทวิเคราะห์หนึ่งใน seekingalpha.com ตั้งสังเกตว่า หุ้นบริษัทแอปเปิลมีเคลื่อนไหวที่ดีมากในช่วงวิกฤต และดีกว่าหุ้นทองและหน่วยลงทุนของกองทุนทองด้วย เพราะนับจากวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ทองคำทรุดลง 8 % แต่ราคาหุ้นบริษัทแอปเปิลพุ่งทะยานสวนทาง 8 %

ที่มา : http://seekingalpha.com/article/295825-an-apple-that-s-harder-than-gold-who-can-take-a-bite