ThaiPublica > คนในข่าว > ชะตา “แพะ” กลางดงศัตรู ประชาธิปไตยในอุดมคติ “สนธิ”

ชะตา “แพะ” กลางดงศัตรู ประชาธิปไตยในอุดมคติ “สนธิ”

17 กันยายน 2011


พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก "ผู้ยึดกุมชะตากรรมประเทศไทย" ในฐานะ "หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)"
พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก "ผู้ยึดกุมชะตากรรมประเทศไทย" ในฐานะ "หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)"

“…เราทำด้วยความปรารถนาดี แต่เวลานึกอะไรไม่ออก แก้ตัวอะไรไม่ได้ ก็หันกลับไป ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ตัวของตัวเองได้ดีที่สุด…”

จาก “ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ม้ามืด” กลายเป็น “ผู้ยึดกุมชะตากรรมประเทศไทย” ในฐานะ “หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)”

จากที่เคยปฏิเสธระบบ-ฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับกระโจนเข้าสู่การเมืองในระบบรัฐสภาเต็มตัว ในฐานะ “หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ (มภ.)-ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ”

จากเหตุผล “ผู้นำก่อรัฐประหาร” เมื่อปี 2549 ที่ว่า “ทำเพื่อรักษาประชาธิปไตย” ได้กลายเป็นความคาดหวังของ “นักการเมืองหน้าใหม่” ในปี 2554 ว่า “ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยอย่างแท้จริง”

ในวัน-เวลาที่วงรอบการปฏิวัติเที่ยวล่าสุดเวียนมาถึง

ในจังหวะที่ “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน” ตัดสินใจเข้าสู่วงจรการเมือง เป็นส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ-ยืนกลางดงศัตรู ด้วยสถานะ “ฝ่ายค้าน” ของรัฐบาล “ชินวัตร/2”

อะไรทำให้ “เขา” มั่นใจว่าตัวเองไม่ใช่ “ศัตรูถาวร” ของ “ทักษิณกับพวก” ?

19 กันยาฯ คือความทรงจำอันล้ำค่า หรืออดีตที่ตามหลอกหลอนนายทหารผู้นี้ ?

จากบรรทัดนี้มีคำตอบ…

ไทยพับลิก้า : หลังเป็นนักการเมืองเต็มขั้น เข้าไปอยู่ในสภาได้เดือนเศษ มุมมองทางการเมืองเหมือนหรือต่างจากเดิมอย่างไร

การเมืองคงเป็นอย่างนี้มานานแล้ว นักการเมืองที่เข้าไปอยู่สภาคราวนี้ เป็นนักการเมืองเก่าๆ ประมาณร้อยละ 60 เห็นจะได้ วัฒนธรรมจึงเป็นเรื่องของนักการเมืองเก่าๆ ที่แสดงออกแบบเดิมๆ เหมือนที่เราเคยเห็นเวลาประชุมสภาชุดก่อนๆ แนวความคิดคงไม่ต่างไปจากเดิม โดยสรุปคือการเมืองก็ยังออกมาในรูปเดิมๆ เพียงแต่นักการเมืองใหม่ๆ ต้องใช้เวลาศึกษาวัฒนธรรม พฤติกรรมต่างๆ สักระยะหนึ่ง แต่เราก็หวังว่าร้อยละ 40 ที่เป็นนักการเมืองใหม่ น่าจะเริ่มมีบทบาทในการเป็นนักการเมืองที่มีคุณธรรม จริยธรรม เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง และทำให้เกิดการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ไทยพับลิก้า : ประชาธิปไตยที่แท้จริงในทัศนะท่านเป็นอย่างไร ภาพที่ปรากฏในรัฐสภา และรัฐบาลต้องออกมาอย่างไร

จริงๆ แล้วเนี่ย… เราต้องนำปรัชญาของนักการเมืองในอดีตมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เช่น อับราฮัม ลิงคอล์น อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ท่านพูดไว้ว่าประชาธิปไตยต้องเป็นไปในลักษณะโดยประชาชน ของประชาชน เพื่อประชาชน เราต้องมองอย่างนี้แล้วเอามาปฏิบัติ ทีนี้ในหลักการของประชาธิปไตย มันมีอีกหลายส่วนที่จะทำให้บ้านเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องความเสมอภาค นอกจากนี้ยังมีเรื่องการศึกษาและความยากจน ซึ่งต้องนำมาขับเคลื่อนไปสู่การสร้างประชาธิปไตยด้วย

ไทยพับลิก้า : ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คำถามที่พล.อ. สนธิถูกถามทุกครั้งหลังเกิดเหตุแตกแยกในบ้านเมืองคือ เป็นเพราะ 19 กันยายน 2549 ? ซึ่งคำตอบที่หลุดจากปากท่านคือ “เราทำเพื่อรักษาประชาธิปไตย” จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มองเห็นพัฒนาการประชาธิปไตยของไทยเป็นอย่างไร

จริงๆ แล้วคนที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยคือพรรคการเมือง เพราะเป็นโครงสร้างหลัก นักการเมืองอยู่ในพรรคมีหน้าที่หลักคือ ต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงเวลานักการเมืองและพรรคการเมืองเข้ามาแล้ว ไม่ได้ทำตรงนั้น แค่เข้ามาบริหารประเทศให้เดินไปข้างหน้า แต่ไม่พัฒนาประชาธิปไตย ประชาชนไม่ได้รับการพัฒนาความรู้เรื่องประชาธิปไตยเลย ดังนั้นใครมาเป็นรัฐบาล ประชาชนก็เหมือนเดิม คนที่มาเป็นรัฐบาล เข้ามาก็เพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเอง ทำให้ตัวเองอยู่ได้ มากกว่าทำให้ประเทศชาติมีความเจริญรุ่งเรือง

ไทยพับลิก้า : เท่าที่ดูนโยบายและภารกิจอันดับแรกๆ ของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” คิดว่ารัฐบาลรักษาเสถียรของตัวเองเพื่อ…?

ทุกนโยบายของทุกรัฐบาลที่ออกมาคล้ายๆ กัน มุ่งสู่การพัฒนาประเทศชาติและประชาชน แต่ที่สำคัญคือมีความตั้งใจจะพัฒนาประชาธิปไตยหรือเปล่า

ไทยพับลิก้า : อย่างนโยบายสร้างความปรองดอง คิดว่ามีโอกาสเกิดผลเป็นรูปธรรมหรือไม่

ผมได้พูดเรื่องการปรองดองมาตลอด การจะทำได้คือรัฐบาลต้องตั้งใจจริง ตัวผู้นำรัฐบาลต้องวางตัวเป็นกลางกับทุกฝ่าย จะไปอิงพรรคการเมืองหนึ่ง หรือต่อต้านอีกพรรคการเมืองหนึ่ง มันไม่ได้

ไทยพับลิก้า : คิดว่ารัฐบาลเข็นนโยบายปรองดองเพื่อคนส่วนรวม หรือเพื่อพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ

อันนี้ไม่อยากไปวิจารณ์ตรงนั้น แต่อยากให้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้ไม่ว่ารัฐบาลขยับทำอะไร คนส่วนหนึ่งก็ไม่วางใจเพราะนายกฯ นามสกุล “ชินวัตร” ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งก็ไม่วางใจทหาร

คือจริงๆ แล้วเนี่ย บ้านเราเป็นประเทศที่พัฒนาการมาจากอดีต ประมาณ 800 ปี สถาบัน กองทัพ กับการเมือง มันไปด้วยกันหมดเลย พอเราพัฒนาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยในปี 2475 ปัญหาก็คือประชาธิปไตยมันเดินไปไม่ได้ เพราะพอเริ่มจะเข้มแข็ง เรื่องของการ… เอ่อ… เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เรื่องของการคอร์รัปชั่น มันจะตามมา องค์คณะปกครองประเทศ เริ่มมีอย่างอื่นมาแทรกแซง ไม่เป็นไปตามครรลอง ทำให้กองทัพปฏิวัติเพื่อหยุดสิ่งเหล่านี้ บางครั้งรัฐบาลปฏิวัติตัวเองก็มี บางครั้งประชาชนร่วมขบวนการปฏิวัติก็ตาม โอเค มันก็เปลี่ยนไปดีขึ้น จากนั้นมันก็เริ่มเดินของมัน ต่อมาก็เกิดอีก ปี 2516 ปี 2519 ปี 2534-2535 เกิดอีกแล้ว นี่คือวิวัฒนาการบ้านเรา หากมีการปฏิวัติไม่ว่าโดยใคร แล้วรัฐบาลใหม่ที่เกิดขึ้นมาเดินไปตามครรลองประชาธิปไตย ไม่มีเรื่องเหล่านี้มาเกี่ยวข้อง มันเดินไปได้

แต่จังหวะที่จะทำให้ทหารคิดปฏิวัติคือ ต้องเห็นว่ามีประชาชนอยู่ข้างหลัง ณ วันนี้แล้ว เรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าไม่มีประชาชนมาอิง หรือมาสนับสนุน มันเป็นไปไม่ได้ และยิ่งบ้านเราเมื่อเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบนี้ ทำให้รัฐบาลไม่วางใจทหาร ความจริงประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาจะแยกทหารออกจากการเมืองเลย แต่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องสนับสนุนกองทัพ ทำให้กองทัพเข้มแข็ง และต้องรู้ว่าตัวเองคือผู้บังคับบัญชากองทัพ รัฐบาลในประเทศประชาธิปไตย เขามีสิทธิจะเปลี่ยนใครอะไรก็ได้ แต่ต้องอยู่ในเหตุในผล ไม่ใช่เพราะฉันไม่ชอบ เลยเปลี่ยน แต่วันนี้บ้านเรา กองทัพกับการเมืองมันมาอยู่ด้วยกันเลย

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะผู้นำเหล่าทัพฝักใฝ่การเมือง หรือการเมืองพยายามเข้ามาแทรกแซงกองทัพ

(ตอบเสียงดัง) การเมืองเนี่ยไปใช้กองทัพ การเมืองต้องการเอากองทัพมาสร้างอำนาจต่อรอง ความจริงต้องแยกออก อำนาจที่การเมืองต้องมีคือ อำนาจที่เกิดจากพลังของประชาชน ไม่ใช่อำนาจที่เกิดจากพลังของทหาร ผิด พลังอำนาจของรัฐบาลจะเกิดขึ้น ต้องประชาชนให้การสนับสนุน ทหารต้องไม่เกี่ยว ทหารคือเครื่องมือของรัฐ ก็ทำหน้าที่ตัวเองไป หรือเมื่อรัฐจำเป็นต้องใช้กองทัพ ใช้ได้ เช่นเกิดภัยพิบัติ อย่างนี้ใช้ได้ แต่อย่าไปดึงเข้ามาเด็ดขาด ถ้าดึงเข้ามา แสดงว่าบ้านเรากำลังก้าวเข้าไปสู่ยุคเผด็จการอีกแล้ว

ไทยพับลิก้า : กลายเป็นว่าขั้วไหนได้กองทัพเป็นพวก ขั้วนั้นก็ดูมีอำนาจขึ้นมา

(พยักหน้ารับ) ดูมีอำนาจ มันก็จะกลายเป็นเผด็จการเกิดขึ้นมา โดยใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องเข้ามา

ไทยพับลิก้า : นอกจากการเมืองต้องสร้างพลังสนับสนุนจากประชาชนแล้ว ตอนรัฐประหารปี 2549 มีประชาชนจำนวนหนึ่งอยู่ข้างหลังทหาร ถึงขั้นออกมามอบดอกไม้ให้ ผ่านมา 5 ปี ประชาชนเหล่านั้นหายไปไหนหมด

คือ… จริงๆ ประชาชนพวกนั้นเขายังอยู่

ไทยพับลิก้า : อยู่ในรูปไหน

เขาก็อยู่ของเขา คือในระบอบประชาธิปไตย คนที่รู้จักสิทธิและหน้าที่ก็อยู่ของเขาไป วันหนึ่งถ้าเกิดว่าเงื่อนไขการเมืองมันวิกฤตอีก เขาก็ต้องออกมาอีก อย่างพวกเราดูรัฐบาล ก็เออ… มันยังไปได้ แต่วันหนึ่งข้างหน้าถ้ารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย เขาอาจจะลุกขึ้นมา พวกนี้คือพลัง

ไทยพับลิก้า : เขาเป็นคนสีอะไร

คนมันก็มี 2 พวก อย่าไปบอกเลยว่าสีอะไร คนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่เข้าใจประชาธิปไตย เขาไม่ใช่สีแดง ไม่ใช่สีเขียว ประชาธิปไตยบ้านเราจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อชนชั้นกลางเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่วันนี้บ้านเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะคนส่วนใหญ่คือคนยากจน ซึ่งชนชั้นกลางเหล่านี้จะลุกขึ้นมา ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองไม่สามารถปกครองอย่างเป็นธรรม อันนี้น่ะน่ากลัว

ไทยพับลิก้า : หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าประชาชนที่สนับสนุนทหารในวันนั้นคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บวกกับแนวร่วมจัดตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แต่ในช่วงที่ผ่านมาพธม. อ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ปชป. วางแผนจัดตั้งมวลชนเสื้อฟ้า ผ่านผ่านโรงเรียนการเมืองของเขา ท่านคิดว่ามวลชนกลุ่มไหนที่พอไปเทคไซด์กลุ่มการเมือง หรือกลุ่มทหาร แล้วจะมีอำนาจชี้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม

ไม่ๆๆ มัน… ผมว่าการเมืองเขาดึงได้กับคนที่มีการศึกษาน้อย ยากจน แต่การเมืองดึงไม่ได้กับชนชั้นกลาง เขาทำงาน เขามีเงิน เขามีความคิดเขา เขายังไม่ออกมา

ไทยพับลิก้า : ถ้าจะมีเหตุให้ชนชั้นกลางออกมาต่อต้านรัฐบาลชุดนี้จะมาจากอะไร

ก็อย่างที่บอกไง ถ้าการปกครองเป็นประชาธิปไตย และทำเพื่อประชาชน เขารับได้ เพราะสภาพการเมืองบ้านเราค่อนข้างจะอ่อนแรงตามสมควร เนื่องจากมีความขัดแย้งกันมาก การที่การเมืองจะเข้มแข็ง ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่หมายความว่าการบริหารจัดการดี และประชาชนให้การสนับสนุน นี่คือการเมืองเข้มแข็ง

ไทยพับลิก้า : ในทุกๆ ปีเมื่อใกล้ถึงวันที่ 19 กันยายน คนมักนึกถึงพล.อ. สนธิ ลึกๆ ในใจท่านคิดอะไรเมื่อวงรอบวันปฏิวัติเวียนมาถึง

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศเรามีความขัดแย้ง ผู้บริหารต้องพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถือเป็นปัญหาหลัก ผู้นำต้องทำงานใน 2 เรื่องคือ เรื่องการเมืองการปกครอง กับเรื่องเศรษฐกิจ ต่างประเทศทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เขาก้าวขึ้น แต่เราไปช้า หรืออาจจะไม่ได้ไปก็ไม่รู้ นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นเราต้องมามองว่าปัญหามันเกิดจากอะไร

ไทยพับลิก้า : แต่คนส่วนใหญ่มักไม่โทษตัวเอง พอเกิดปัญหาที หรือแก้ปัญหาไม่ได้ ก็บอกว่าเพราะ 19 กันยาฯ

อ่า… อันนี้แหล่ะเป็นสิ่งที่เราต้องยอมรับว่าเราทำด้วยความปรารถนาดี แต่เวลานึกอะไรไม่ออก แก้ตัวอะไรไม่ได้ ก็หันกลับไป ตรงนี้มันเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ตัวของตัวเองได้ดีที่สุด ก็เป็นธรรมดา

ไทยพับลิก้า : ทุกครั้งที่ฟังคำแก้ตัวของนักการเมือง ซึ่งเป็นคำกล่าวโทษคณะปฏิวัติ รู้สึกอย่างไร

ผมถือว่ามันเป็นเรื่องการแก้ตัวทางการเมือง เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เขาเหล่านั้นพูด ผมยังยืนยันว่าคนตำหนิเรา ถ้าเป็นคนดี เราก็คงจะต้องคิดหนัก และอาจจะมีความรู้สึกเสียใจ แต่ถ้าคนดีๆ เขาไม่ว่าอะไรเรา กลับชื่นชมด้วยซ้ำ ก็โอเคแล้ว เพราะในระบอบประชาธิปไตยมันมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ดังนั้นไอ้คนที่รักเรา เขาก็รักเรา และคนที่เขารู้ว่าสิ่งที่เราทำไปมันมีคุณค่าแก่บ้านเมืองอย่างไร ก็ต้องแยกไป ธรรมดา

ไทยพับลิก้า : คืนวันที่ 18 กันยายนของทุกปี กินอิ่ม นอนหลับหรือไม่

อืม… มันก็หลับมาทุกปีน่ะนะ ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้วในชีวิต

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)

ไทยพับลิก้า : สิ่งที่ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจที่สุด และเจ็บปวดที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคืออะไร

พอเราทำสิ่งที่ควรจะทำเสร็จ เราก็มอบภาระให้ไป (รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) เราไม่ได้ทำต่อ เราจะไปโทษ ไปเสียใจว่าเป็นเพราะอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่หน้าที่เราต้องไปเสียใจ เพราะตอนนั้นเราทำของเราดีที่สุดแล้ว ส่วนมันเดินไปไม่ได้ ก็ถือเป็นโชคชะตา ถือเป็นเวรกรรมของประเทศ ต้องมองไปอย่างนั้น แต่ ณ วันนั้น ทุกคนต้องยอมรับว่าคนทั้งประเทศมีความสุข มาถึงวันนี้มันเปลี่ยนไป ถามว่ามันเกิดจากอะไร ก็เรามีอำนาจแค่ 14 วัน

ไทยพับลิก้า : ถือเป็นการตัดสินใจผิดพลาดหรือไม่ ที่ไม่ยึดครองอำนาจเสียเอง แต่ปล่อยมือให้รัฐบาลพล.อ. สุรยุทธ์มารับช่วงต่อ

ไม่ๆๆๆ ต้องเข้าใจว่าในโลกกำลังเดินทางไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นอะไรที่เราทำไป ต้องนึกถึงความรู้สึกของคนทั้งโลกด้วย ต้องถือว่าเราทำในกรอบหนึ่งที่โลกรับได้ แต่ถ้าเราไปยึดอำนาจ แล้วยังถือครองอำนาจไว้เองอีก สังคมโลกจะมองประเทศเราอย่างไร

ไทยพับลิก้า : ตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิวัติรอบใหม่ ตัวพล.อ. สนธิก็จะตกเป็นแพะทุกเดือนกันยายน

ต้องยอมรับความเป็นจริง (พูดทวน 3 ครั้ง)

ไทยพับลิก้า : จากหัวหน้าคมช. มาเป็นประธานคมช. รองนายกฯ และวันนี้เป็น ส.ส. คิดว่าถูกนักเลือกตั้งมองด้วยสายตาอย่างไร เคยมีสักจังหวะการตัดสินใจที่คิดว่าไม่น่าเลยบ้างไหม

ไม่น่าเลยคืออะไร…?

ไทยพับลิก้า : ไม่น่าปฏิวัติเลย หรือไม่น่ามอบอำนาจให้พล.อ. สุรยุทธ์เลย หรือไม่น่าลงเลือกตั้งเลย

อ๋อ… เรารู้อยู่แล้วว่าถ้าเราเข้าไปในการเมือง เราต้องเจออะไรบ้าง เจอกระแสว่าปัญหาเกิดจากการปฏิวัติ มันเป็นธรรมชาติ คนที่พูดอย่างนี้ก็มี คนที่เขาสนับสนุนก็มี ต้องยอมรับว่าการเมืองมันเป็นอย่างนี้ สิ่งที่มันจะต้องเกิด เราคิดอยู่แล้วทั้งหมด แต่ถามว่าเราซีเรียสกับเรื่องอย่างนี้หรือไม่ มันเป็นธรรมชาติ เป็นปกติของสังคม

ไทยพับลิก้า : เคยพูดไว้ว่าศัตรูถาวรมีอยู่ 3 ประการคือ ผู้หญิง อำนาจ และทรัพย์สิน

อ่อ.. อันนี้มันเป็นคำพูดของผู้หลักผู้ใหญ่น่ะ ตอนที่เรายังรับราชการ เขาบอกว่าศัตรูถาวรมีอยู่ 3 เรื่อง ซึ่งมาถึงตรงนี้ ไอ้เรื่องผู้หญิงมันเลยไปหมดแล้ว มาเหลือก็เรื่องของอำนาจ กับผลประโยชน์คือทรัพย์สินนั่นเอง ก็มีแค่นั้น ถามว่าวันนี้ ไอ้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนที่ผ่านเหตุการณ์ตรงนี้ ใครไปเจอเหตุการณ์ตรงนี้ ไปแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกัน ไปแย่งการประมูล แย่งผลประโยชน์ นั่นแหละคือศัตรูถาวร แต่ของเราไม่ได้ไปแย่งอะไรใคร เราก็อยู่ของเราไป

ไทยพับลิก้า : แต่ท่านทำให้พ.ต.ท. ทักษิณกับพวกพลัดตกจากอำนาจ คิดว่าคนเหล่านั้นมองท่านเป็นศัตรูถาวรหรือไม่

อืม… (ส่ายศรีษะ) ผมยังมีเทปอยู่นะ เป็นเทปที่ผมได้คุย… ผมเชื่ออะไรบางอย่างว่าความเป็นจริง มันเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจในเจตนาที่เราทำ เพราะเรามีหน้าในการต้องรักษาประชาธิปไตย เราก็ทำหน้าที่ของเรา เมื่อเราทำสำเร็จแล้ว เราก็ไม่ได้ต้องการอะไร

ไทยพับลิก้า : ที่บอกว่ามีเทปอยู่คือเทปการสนทนาระหว่างพ.ต.ท. ทักษิณ กับตัวท่าน

(ตอบแบบไม่มีเสียง แต่อ่านริมฝีปากได้ว่า “ใช่ครับ”)

ไทยพับลิก้า : คิดอย่างไรถึงโทร. ไปหาพ.ต.ท. ทักษิณ

ก็คุยกัน ท่านบอกว่าท่านเป็นนักกีฬา

ไทยพับลิก้า : หมายถึงรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

อ่ะฮะ ท่านพูดอย่างนั้นจริงๆ ก็ปกติกัน ไม่มีอะไร ก็เป็นเรื่องของการเมืองน่ะนะ เราอย่าไปสนใจกับสิ่งเหล่านั้น วันนี้ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร

ไทยพับลิก้า : กรณีนี้เป็นเรื่องระหว่างท่าน 2 คน แต่สังคมส่วนใหญ่ไม่คิดว่า พ.ต.ท. ทักษิณจะให้อภัยพล.อ. สนธิ เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง

เอ่อ… มันไม่ถึงขนาดนั้น เราก็ต้องเข้าใจนะครับ ผมคิดว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันก็ต้องวิวัฒนาการไปตามสถานการณ์ของมัน

ไทยพับลิก้า : ถึงขณะนี้มั่นใจจะไม่ถูกเช็คบิล หลังพรรคเพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกรอบ

ไม่ๆๆๆ อันนี้เราคงไม่ได้ไปคิดอะไร ไปคาดอะไร ดังนั้นเราเดินไปในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง และก็มั่นใจในตัวเรา

ไทยพับลิก้า : คุยกับพ.ต.ท. ทักษิณก่อน หรือหลังเลือกตั้ง

โอ้ย! นานแล้ว

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันก็ยังเก็บเทปไว้อยู่ เผื่อโดนบิดพลิ้ว

บังเอิญ เทปเราไม่ค่อยได้ใช้น่ะ (หัวเราะเล็กๆ) ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก เราไม่ไปหยิบไอ้สิ่งเหล่านั้นมาดูหรอก พูดให้ฟังว่าเราได้คุยกันเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความเป็นคนไทย และความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน

ไทยพับลิก้า : วันนี้ท่านยิ้มได้ ดูสบายใจ

ก็ไม่มีอะไร เป็นอย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ว่าเวลาจะตัดสินใจทำอะไร เราไตร่ตรองอย่างดี

ไทยพับลิก้า : ในอีก 8 เดือนข้างหน้า หลังสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นโทษแบนการเมือง 5 ปี คิดถึงชะตากรรมตัวเองอย่างไร

ไม่เกี่ยวกันนี่ ต่างคนต่างกลับเข้ามาสู่การเมือง ใช่ไหมฮะ ทางการเมืองของพรรคใดก็ว่าไปตามแนวทาง

ไทยพับลิก้า : 19 กันยายนสำหรับท่านเป็นประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การจดจำ หรือเป็นอดีตที่ตามหลอกหลอน

(หัวเราะ) ไม่ต้องมาถาม เพราะเป็นการตัดสินใจที่ได้คิดแล้ว ไตร่ตรองแล้ว และเป็นการตัดสินใจที่ประชาชนส่วนใหญ่ ณ เวลานั้น เป็นผู้คิด ดังนั้นเราเป็นข้าราชการในประเทศไทย ก็ต้องนึกถึงประชาชน เพราะภารกิจทหารคือทำเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน อะไรที่ประชาชนมีความสุข เราก็ทำ เราคิดว่าสิ่งที่เราได้ทำไปแล้ว มันดีแล้ว

ก้นบึ้งตท. 6 วัน “การเมือง” เขย่า “กองทัพ”

พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน
พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน

ในขณะที่ “แม่ทัพ-นายกอง” รอลุ้นบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี

หลายเสียงในกองทัพยืนยันตรงกันว่ารัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ได้เปลี่ยนแปลง “ธรรมเนียมปฏิบัติ” บางประการ

จากแต่ก่อนต้องส่ง “โผ” ให้ “ผู้มีบารมีเหนือกองทัพ” ตรวจทานรายชื่อ “เหล่าลูกรัก”

มาครั้งนี้ “บัญชีแต่งตั้งโยกย้าย” ถูกแทงทะลุจาก “กระทรวงกลาโหม” ตรงรี่มาที่ “ทำเนียบรัฐบาล” โดยไม่ผ่านตา “ใครบางคน”

ขณะที่บางเสียงในกองทัพชี้ชวนให้มองย้อนกลับไปดู “ต้นเหตุ” ในการ “ยึดอำนาจ” หลายครั้งว่า เป็นผลจากการปรับ-ลด-ปลด-ย้าย “แม่ทัพบก”

ทว่า “พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน” กลับเห็นแย้ง

“ไม่ใช่หรอก ทหารไม่คิดจะทำไอ้อย่างนั้นหรอกนะ ถ้าเราคิดจะทำเพื่อตัวเรา ทหารเขาก็ไม่เห็นด้วย ถ้าผมจะปฏิวัติ แต่แม่ทัพคนอื่นไม่เห็นด้วย เขาก็ไม่เอากับเรา การทำปฏิวัติทำคนเดียวไม่ได้ ใครก็แล้วที่คิดจะปฏิวัติ ถ้าคนในภาพรวมไม่เห็นด้วย ไม่มีทางสำเร็จ”

“อดีตผบ.ทบ.-อดีตประธานคมช.” ยังพูดถึงกรณีเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 10 (ตท. 10) ของ “พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ฟื้นคืนชีพ-ได้ดิบได้ดีในยุค “รัฐบาลน้องสาว” ครองเมือง อาทิ การขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี และจ่อเป็นประธานบอร์ดอีกบางส่วน

โดยบอกเพียงสั้นๆ ว่า “ก็โอเคนะ”

“แกนนำตท. 6” ยืนยันว่า โรงเรียนเตรียมทหารคือ “สถาบัน” ที่ผูกจิตใจของพี่น้องทุกรุ่น-ทุกเหล่าเข้าด้วยกัน โดยไม่แยกขั้ว-ไม่แบ่งสี

และ “สถาบันการศึกษา” แห่งนี้เอง ที่ทำให้ “นายทหารเกษียณรายนี้” ยังมี “พี่-น้อง-เพื่อน”

ส่วนภาพกองทัพบกที่ถูกแตกออกเป็น 2 ก๊กใหญ่คือ ก๊กบูรพาพยัคฆ์ กับก๊กวงศ์เทวัญนั้น “บิ๊กบัง” ออกโรงป้องน้องๆ ว่าไม่มีหรอก

“เราเองไม่ใช่ทหารจากกรุงเทพฯ แต่มาจากบ้านนอก ดังนั้นเราให้ความเป็นธรรมกับทหารทุกกองทัพอยู่แล้ว เขาโตมาจากตรงไหน ก็เจริญรุ่งเรืองไปตามนั้น ตรงนี้มันก็ทำให้เกิดความรักความสามัคคีในกองทัพได้ ไม่ได้แยกเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้”

“ภาพที่ปรากฏออกมา มันอาจจะไม่ใช่ก็ได้ เพราะไอ้การเมืองเนี่ย มันอาจจะไปพูดออกมาในภาพนั้น ทำให้มองว่าบูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ เราอย่าไปเชื่ออย่างนั้นเลย ความจริงเขาโตมาในกองทัพภาค 1 ก็รู้มือกันอยู่”

ในสายตา “พล.อ. สนธิ” บทสรุปของการแตก 2 ก๊ก ใน 1 กองทัพ เป็นเพียงความพยายามในการ “บัญญัติศัพท์” จากฝ่ายการเมือง เพื่อใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ

เมื่อไถ่ถามถึงความสัมพันธ์กับ “เพื่อนร่วมรุ่นตท. 6-เพื่อนตายร่วมขบวนการยึดอำนาจ” ซึ่งบางคนไปได้ดี อย่าง “พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข” อดีตผบ.ทอ.-อดีตรองประธานคมช. ได้รับแต่งตั้งเป็นองคมนตรี

ขณะที่ “พล.อ. วินัย ภัททิยกุล” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม-อดีตเลขาธิการคมช. ซ่อนเร้นกาย-ซุ่มโป่งอยู่ในที่มั่น

พล.อ. สนธิตอบว่า ก็คุยบ้าง แต่ช่วงเลือกตั้งนี่ไม่ค่อยได้เจอกัน เพราะต้องตระเวนหาเสียง แต่ แหม! พวกเราเกษียณกันแล้ว จะไปหัวหกอะไร อายุก็ 64-65 ปีกันแล้ว คงไม่ต้องคิดอะไรมาก แต่ละคนก็หาความสุขอยู่กับครอบครัว กับลูกหลาน ส่วนตนเดินเข้ามาตรงนี้ เพราะมีนักการเมืองน้องๆ ชวนมา เพราะตัวเรามีต้นทุนคือมีความนิยมของประชาชน

หากเปรียบเทียบต้นทุนคนชื่อ “สนธิ” ในปี 2549 กับปี 2554 มากขึ้น เท่าเดิม หรือลดลง?

“เอาว่า “ต้นทุน” คือมีคนนิยม ส่วนจะมากน้อย เราคิดเป็นตัวเลขไม่ได้หรอก เวลาเจอคนเสื้อแดงยังมีคนเสื้อแดงมากอด มาถ่ายรูป ทั้งทางเหนือก็มี ทางอีสานก็มี เขาบอกว่าเขาเสื้อแดงนะ แต่เขาก็รักท่าน คนเรามันเอาอะไรเป็นตัววัดไม่ได้”

คือคำทิ้งท้ายจาก “นายพลเอก” ที่เคยมีอำนาจ-วาสนา-บารมีสูงสุดในประเทศไทยเมื่อ 5 ปีก่อน!!!

งบกลาโหมก่อน-หลังรัฐประหาร

ป้ายคำ :