ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เฟดจะเลือกแบบไหน เติมเงิน QE3 หรือ เดินเกม Operation Twist

เฟดจะเลือกแบบไหน เติมเงิน QE3 หรือ เดินเกม Operation Twist

21 กันยายน 2011


เบน เบอร์นันเก้ ที่มา: http://www.tnews.co.th

อาการผันผวนของตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve: FED) ในบางแง่มุมได้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของผลการประชุมเฟดในวันที่ 20-21 กันยายนว่า จะออกมาอย่างไร

ในระยะแรก เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคมซึ่งเป็นจังหวะที่เฟดได้เผยแพร่เนื้อหาในบันทึกการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐวันที่ 9 สิงหาคมออกสู่สาธารณะ ปฏิกิริยาของตลาดการเงินทั่วโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างทันตาเห็น (31 ส.ค.) โดยเฉพาะตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกาขานรับสัญญาญความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ระลอกที่ 3

ในบันทึกการประชุมดังกล่าวระบุว่า เริ่มมีกรรมการจำนวนหนึ่งเห็นว่า ควรจัดทำโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มเติม เนื่องจากมาตรการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวจะช่วยดึงดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปและเป็นการสนองตอบเชิงตอบต่อสัญญาณความอ่อนแอทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น (CNNMoney.com)

โดยมีกรรมการ 3 รายเสนอแนะให้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยทันที แต่มีกรรมการเพียงไม่กี่คนเห็นด้วยที่จะดำเนินมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในการประชุมนัดนี้

นอกจากทางเลือกในการอัดฉีดเงินผ่านโครงการซื้อพันธบัตรสหรัฐแล้ว คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินยังหารือถึงทางเลือกอื่นๆ ที่จะนำมาใช้

ในจำนวนนั้น รวมถึงทางเลือกในการขายพันธบัตรระยะสั้น แล้วนำเงินที่ได้มาซื้อตราสารหนี้ระยะยาวหรือที่เรียกกันในแวดวงการเงินว่าปฏิบัติการ Operation Twist ซึ่งเป้าหมายของมาตรการนี้ อยู่ที่การดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลงมา โดยไม่ต้องเติมเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมไปจากอัดฉีดเข้ามาก่อนหน้านี้แล้ว

การประคับประคองเศรษฐกิจผ่านมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ QE1 และ QE2 ทำให้ธนาคารกลางมีพอร์ตตราสารหนี้เป็นวงเงินทั้งสิ้น 1.65 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ของตราสารเหล่านั้นเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น

นอกเหนือจากทางเลือกทั้ง 2 แนวทางแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งที่มีการพาดพิงถึงในบันทึกการประชุมคือ ความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินสดสำรองส่วนเกินที่เฟดใช้จูงใจให้ธนาคารนำไปปล่อยกู้มากกว่าเก็บไว้เฉยๆ อยู่ในบัญชี

CNNMoney.com ระบุว่า ข้อเสนอทางเลือกเหล่านั้นเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดการถกเถียงกันมากในหมู่กรรมการเฟด โดยที่มีกรรมการบางคนเชื่อว่า เฟดคงทำอะไรได้ไม่มากนักในการขจัดความอ่อนแอให้กับเศรษฐกิจ

“กรรมการที่เข้าร่วมประชุมบางคนมีความเห็นว่า ไม่มีเครื่องมืออะไรเหลือให้คณะกรรมการนำมาใช้เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น” เฟดระบุ ในบันทึกการประชุม

นอกเหนือจากประเด็นทางเลือกในการดำเนินนโยบายเพื่อคลี่คลายความอ่อนแอทางเศรษฐกิจแล้ว สัญญาณบวกอีกประการหนึ่ง ยังมาจากการตัดสินใจขยายการประชุมในเดือนกันยายนเพิ่มอีก 1 วัน เป็น 20-21 กันยายน ซึ่งเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดเป็นผู้เปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างร่วมการประชุมผู้ว่าการธนาคารกลางที่แจ็คสัน โฮล เพื่อมีเวลาในการประเมินผลได้ผลเสียของเครื่องมือต่างๆ ของนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายที่มีอยู่ (MarketWatch.com 30 สิงหาคม)

ประกอบกับระหว่างแถลงสุนทรพจน์ที่แจ็คสัน โฮล แม้เบอร์นันเกจะไม่มีการส่งสัญญาณใดในเรื่องการนำมาตรการ QE-3 มาใช้ แต่เขาได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า ธนาคารสหรัฐยังมีเครื่องมืออีกจำนวนหนึ่งที่พร้อมนำออกมาใช้สนับสนุนเศรษฐกิจ หากจำเป็น

หลังจากมีการเผยแพร่บันทึกการประชุม 9 สิงหาคมออกมา นักเศรษฐศาสตร์บางรายเริ่มเชื่อมั่นว่าจะมี QE3 ดังความเห็นของไมเคิล เฟโรลิ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเจพี มอร์แกน เชส แอนด์ โค ในนิวยอร์กตีความการหารือกันถึงทางเลือกต่างๆ โดยก้าวข้ามประเด็นที่ว่า เฟดจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ ไปโฟกัสว่าสิ่งที่พวกเขากำลังจะทำคืออะไร

โจช ชาปิโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากเอ็มเอฟอาร์ อิงค์คาดการณ์ว่า เฟดประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในการประชุม 21 กันยายน

ขณะที่โจเซฟ ลาวอร์ญา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากดอยช์ แบงก์ แม้จะเห็นด้วยว่า บันทึกการประชุมล่าสุดบ่งชี้ว่า เฟดกำลังใกล้จะตัดสินใจดำเนินมาตรการเพิ่มเติมบางอย่าง แต่เขากลับไม่คิดว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้ น่าจะเป็นเดือนพฤศจิกายนมากกว่าและในมุมมองของเขาเชื่อว่า มาตรการที่เฟดน่าจะนำมาใช้จะเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยลงมา โดยไม่ถูกกล่าวหาในเรื่องการอัดฉีดเงินเพิ่ม

โค้งสุดท้าย Operation Twist มาแรง

ไม่ว่าความเห็นของหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ดอยช์ แบงก์จะเป็นคำทำนายที่ถูกต้องหรือไม่ แต่ในช่วงสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมาก่อนหน้าที่การประชุมเฟดจะเริ่มขึ้น นักวิเคราะห์ในย่านวอลล์สตรีทและนักลงทุนแทบทั่วโลกกว่า 80% มั่นใจว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเป็นรอบที่ 3 ในลักษณะของการแทรกแซงตลาดพันธบัตรที่เรียกว่า Operation Twist

Operation Twist หมายถึงการปรับวิธีการในการแทรกแซงตลาดเงินของธนาคารกลางสหรัฐไปจากรูปแบบเดิม ซึ่งเฟดมักจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นมาถือครองไว้ หากต้องการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ ก็จะปรับเป็นการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวแทน

ก่อนหน้านี้ เบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดและคณะได้ตัดสินใจดำเนินมาตรการ Operation Twist มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 18 มีนาคม 2552 โดยมีมติหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินให้ซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว 3 แสนล้านดอลลาร์

ที่ผ่านมา สหรัฐเคยนำแนวทาง Operation Twist มาใช้แล้วครั้งหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1960 ระหว่างปี 2504-2508 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ธนาคารกลางสหรัฐได้เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวและขายตั๋วเงินคลังระยะสั้น โดยเป้าหมายของการดำเนินการในครั้งนั้นเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินผ่านการจัดการปริมาณเงินในระบบ

บรรยากาศในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ที่มา: http://pirun.ku.ac.th

โพลของสำนักข่าวรอยเตอร์สระบุว่า 80% ของนักเศรษฐศาสตร์จาก 20 โบรกเกอร์ชั้นนำที่ร่วมตอบผลสำรวจเชื่อว่า เฟดจะแทรกแซงตลาดพันธบัตรเพื่อดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลงมาผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรสหรัฐระยะยาวซึ่งในจำนวนนั้น 16 ใน 20 รายมั่นใจว่า มีโอกาส 45% ที่เฟดจะดำเนินมาตรการ QE-3 ใน 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้ ในการเพิ่มปริมาณเงินรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐหรือที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า QE2 ธนาคารกลางสหรัฐได้เข้าซื้อพันธบัตรและตั๋วเงินคลังเป็นมูลค่า 6 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะนำ Operation Twist มาใช้นั้น ไอรา เจอร์ซี นักยุทธศาสตร์การลงทุนในอัตราดอกเบี้ยของเครดิต สวิส ตั้งข้อสังเกตว่า มีแนวโน้มที่ธนาคารสหรัฐประจำนิวยอร์กจะเป็นผู้ดำเนินการและดำเนินการผ่านการประมูลพันธบัตร 2 รอบ ภายใน 1 วัน โดยเริ่มต้นจากนำพันธบัตรและตราสารหนี้ระยะสั้นออกมาขาย แล้วหลังจากนั้น ก็เปิดการประมูลพันธบัตรอีกรอบเพื่อซื้อพันธบัตรระยะยาวมาถือครองไว้

โธมัส ไซมอนส์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านตลาดเงินของเจฟเฟรีส์ แอนด์โคคาดการณ์ว่า เฟดจะนำพันธบัตรและตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ออกมาขายเป็นมูลค่าประมาณ 2.65 แสนล้านดอลลาร์ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะไม่กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นให้เพิ่มขึ้นมากนัก

ขณะที่แจน ฮาตซิอุส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จากโกลด์แมน แซคส์ประเมินว่า การดำเนินการรอบนี้จะช่วยขจัดความเสี่ยงในเรื่องเงื่อนเวลาได้ราว 80-90% ของ QE2

การเมืองแทรกปิดโอกาส QE3

ในขณะที่กระแสของ Operation Twist กำลังกระหึ่ม เหตุการณ์บางอย่างได้เกิดขึ้นและเป็นการเคลื่อนไหวที่น้อยครั้งจะเกิดขึ้น

ก่อนการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายสหรัฐจะเปิดฉาก แกนนำพรรครีพับลิกันทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ทำหนังสือส่งถึงเบอร์นันเก เนื้อหาในนั้นเตือนว่า การดำเนินนโยบายของเฟดอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วของสหรัฐ

จดหมายฉบับดังกล่าวซึ่งส่งไปยังเบอร์นันเกเมื่อวันจันทร์ (19 ก.ย.) มีขึ้นหลังจากบรรดาตัวเก็งว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกันบางคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของเฟดในช่วงที่ผ่านมาว่ากำลังเพิ่มความเสี่ยงจากเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น

ในรายละเอียด สมาชิกรัฐสภากลุ่มนี้ได้แสดงความกังวลว่าการดำเนินการของเฟดอาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหรืออาจจูงใจให้ผู้บริโภคอเมริกันซึ่งแบกภาระหนี้สินมากเกินไปอยู่แล้ว กู้ยืมเงินมากเกินกำลังของตัวเอง

สัญญาณหนึ่งจากการเคลื่อนไหวครั้งนี้คือ การกระทำเช่นนี้ ไม่เพียงจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์อเมริกัน ที่จะมีสมาชิกรัฐสภาคนใดหรือกลุ่มใดเข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานอิสระปราศจากอิทธิพลของฝ่ายการเมือง แต่ที่สำคัญ ยังเป็นการแทรกแซงประธานธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งเป็นคนของพรรครีพับลิกันเองด้วย

จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเริ่มคาดเดาถึงความเป็นไปได้ของผลการประชุมของเฟดวันที่ 21 กันยายนนี้

ในบทความเรื่อง The Political Landscape Won’t Allow QE3 เผยแพร่ในเว็บไซต์ GoldSeek.com วิเคราะห์ว่า โอกาสของ QE3 ปิดประตูตายไปแล้ว หากมองจากแรงต้านของฝ่ายการเมืองและจากกลุ่มในตลาดการเงินด้วย

กรณีของแรงต้านจากฝ่ายการเมืองนั้นเป็นผลมาจากความรู้สึกที่มีเบอร์นันเกและประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งเมื่อ 2 ปีก่อน ในความคิดของผู้คน ธนาคารกลางสหรัฐและรัฐบาลโอบามาเป็นเสมือนผู้ช่วยให้ทุนนิยมและเศรษฐกิจของประเทศรอดพ้นจากการล่มสลาย แต่หากมองจากผลโพลต่างๆ ในปัจจุบันคะแนนนิยมของโอบามาลดลงที่ระดับต่ำสุดอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางสหรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยจาก 3 ตัวเก็งของพรรครีพับลิกันที่จะลงสนามเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2555

มุมมองใหม่ต่อเฟดและโอบามาเป็นผลมาจากดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายต่อหลายมาตรการและการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

ในแง่แรงต้านจากตลาดการเงินนั้น บทความของ GoldSeek.com ชี้ประเด็นสำคัญที่อาจผูกโยงกับ QE3 ทั้งทางอ้อมและทางตรง นั่นคือเฟดยากจะดำเนินมาตรการ QE3 โดยไม่ก่อความเสียหาย

ปัจจุบัน สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐรวมถึงโกลด์แมน แซคส์กำลังตกเป็นจำเลยสังคมและเผชิญกับการฟ้องร้องว่าหลอกหลวงประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤต ขณะที่เฟดเองก็เริ่มปกป้องตัวเองและโยนบาปเหล่านั้นไปที่วอลล์สตรีท

ดังนั้น หากสถาบันการเงินเหล่านี้เผชิญแรงกดดันจากคดีฟ้องร้องมากขึ้นเรื่อย ธนาคารกลางสหรัฐจะถูกดึงเข้าไปพัวพันทันที ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า สถาบันการเงินหลายแห่งเป็นตัวเลือกที่ชื่นชอบของเฟดมาโดยตลอดในช่วงที่เกิดวิกฤต โดยที่โกลด์แมน แซคส์ก็เป็นหนึ่งในนั้น

การปฏิบัติดีเป็นพิเศษของเฟดต่อสถาบันการเงินเหล่านั้นอาจกลายเป็นหลักฐานที่ย้อนกลับมาเล่นงานเฟดได้และมีความเป็นไปได้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเฟดกับสถาบันการเงินในวอลล์สตรีทจะเริ่มเสื่อมถอยลงในอีกไม่กี่เดือนหน้า

ภายใต้บรรยากาศเช่นนั้นจึงไม่เอื้ออำนวยให้เฟดดำเนินมาตรการ QE3 ได้ง่ายๆ อีกต่อไป