ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เฟดเคาะ Operation Twist ทุบดอกเบี้ยปลุกเศรษฐกิจ อุ้มชาวอเมริกัน 25 ล้านคน

เฟดเคาะ Operation Twist ทุบดอกเบี้ยปลุกเศรษฐกิจ อุ้มชาวอเมริกัน 25 ล้านคน

22 กันยายน 2011


เบน เบอร์นันเก้า จากเว็บไซต์ media.kansascity.com

ผลการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ (Federal Reserve: FED) ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 21 กันยายนเป็นไปตามโผ ไม่มีเม็ดเงินล็อตใหญ่ในนาม QE3 (quantitative easing) แต่เป็นการดำเนินการผ่อนคลายทางการเงิน ผ่านกลไกอีกรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า Operation Twist

ในรายละเอียดของ Operation Twist เฟดวางแผนจะเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวกำหนดไถ่ถอน 6-30 ปีเป็นมูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์และชดเชยด้วยการนำพันธบัตรระยะสั้นกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ 3 ปีลงมาออกขายในวงเงินเท่ากัน โดยที่การดำเนินการทั้งสองขานี้จะเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ไปจนถึงเดือนมิถุนายนปี 2555

วัตถุประสงค์หลักของมาตรการอยู่ที่การดึงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวลงมา โดยหวังผลว่า การแทรกแซงตลาดพันธบัตรจะไปกดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้าน สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อรูปแบบอื่นๆ ให้ลดลง เพื่อบรรเทาภาระหนี้ให้กับชาวอเมริกัน

เหตุผลประการหลังปรากฎชัดแจ้งอยู่ในคำแถลงของธนาคารกลางสหรัฐซึ่งเผยแพร่ภายหลังผลการประชุม มีเนื้อหาบอกความจำเป็นในการดำเนินการครั้งนี้ว่า เป็นเพราะเฟดมองไม่ค่อยเห็นโอกาสที่เศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างรวดเร็วเและทันท่วงทีเพียงพอจะช่วยชาวอเมริกัน 25 ล้านคน ซึ่งไม่สามารถหางานเต็มเวลาทำได้

“อัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ ดัชนีหลายตัวต่างชี้ไปที่ความอ่อนแอ ซึ่งยังคงอยู่ในตลาดแรงงานโดยรวมและอัตราว่างงานยังคงเพิ่มขึ้น” เฟดระบุในแถลงการณ์ฉบับนั้น ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การใช้จ่ายของผู้บริโภคด้วยว่ากำลังเพิ่มขึ้นในระดับปานกลางเท่านั้น

เปิดพอร์ตหนี้ในมือเฟด

สำนักข่าวบลูมเบิร์กให้รายละเอียดบัญชีการซื้อขายพันธบัตรในตลาดเปิด (System Open Market Account) ของธนาคารกลางสหรัฐพบว่า นับถึงวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา เฟดถือครองตราสารต่างๆ เป็นมูลค่ารวมกันประมาณ 2.64 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนั้นครอบคลุมตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อรวม 1.65 ล้านล้านดอลลาร์ รวมกับตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์จดจำนองค้ำประกันอีก 9.95 แสนล้านดอลลาร์

แยกพิจารณาเฉพาะกลุ่มตั๋วเงินคลัง 1.56 ล้านล้านดอลลาร์พบว่า 19 % เป็นตราสารหนี้ที่มีกำหนดไถ่ถอนน้อยกว่า 2 ปี ขณะที่กลุ่มที่มีกำหนดไถ่ถอนตั้งแต่ 2-5 ปี มี 35 % เป็นตราสารหนี้ที่มีกำหนดไถ่ถอน 5-10 ปี 35 % และที่เหลือ เป็นกลุ่มที่มีกำหนดไถ่ถอน 10-30 ปีอีก 10 % (ข้อมูลจาก Business Week)

การเพิ่มพูนของพอร์ตตราสารหนี้ในมือเฟดเป็นผลมาจากการเข้าซื้อตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2551 จนถึงเดือนมิถุนายนปีนี้ ผ่านการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ 2 รอบ เพื่อทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมของบริษัทและผู้บริโภคลดลง จากผลของมาตรการที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงมาอยู่ในระดับที่ใกล้ 0 %

ที่มา : http://paydaypundit.org

เกจิเสียงแตกผลดี-ผลเสียต่อเศรษฐกิจ

ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐมั่นใจในผลบวกของมาตรการล่าสุด นักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่น้อยกลับมองต่าง โดยยังกังขาว่า Operation Twist จะปลุกเศรษฐกิจได้ดังคาดหวังหรือไม่ และมีบางส่วนเริ่มกังวลกับผลกระทบด้านลบที่จะตามมาบ้างแล้ว

ดังกรณีของคีธ เฮมเบอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และนักยุทธศาสตร์การลงทุนจากนูวีน แอสเส็ท แมเนจเมนต์ ในมินนิอาโปลิสให้ทัศนะว่า เฟดมีทางเลือกที่จำกัดพอสมควร นั่นคือ ไม่อะไรเลยกับทำบางอย่างดังที่ทำอยู่ขณะนี้

ในเว็บไซต์ Barrons.com คอลัมน์ UP AND DOWN WALL STREET ได้อ้างอิงความเห็นของเลซี ฮันต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากฮอยซิงตัน แมเนจเมนต์ ในเท็กซัส วิจารณ์มาตรการของเฟดครั้งนี้ว่า เป็นเสมือนการปรับพอร์ตมากกว่า ซึ่งถือเป็นทางเลือกดำเนินการที่ส่งผลเสียหายน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับการดำเนินการในรูปแบบอื่นๆ

เขามองว่า เฟดกำลังอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะความผิดพลาดของนโยบายในอดีต โดยเฉพาะมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE1 และ QE2 ซึ่งทำให้งบดุลของธนาคารกลางสหรัฐมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า

“พวกเขายึดแนวนโยบายที่ไม่เคยผ่านการทดสอบมาก่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่สร้างสรรค์ และกระตุกเงินเฟ้อให้เพิ่มขึ้น จนกระทบต่อครัวเรือนที่มีรายได้ปานกลางอย่างรุนแรง และจากผลของมาตรการ QE2 เรากำลังอยู่ในจุดที่เข้าใกล้ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง”