ThaiPublica > คอลัมน์ > เขตเลือกตั้ง กฎการนับคะแนน กับขนาดของพรรคการเมือง

เขตเลือกตั้ง กฎการนับคะแนน กับขนาดของพรรคการเมือง

3 กันยายน 2011


อภิชาต สถิตนิรามัย

ผมสงสัยมาตลอดว่า เหตุใดพรรคร่วมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยจึงกดดันให้พรรคประชาธิปัตย์แก้ไขกฎหมายเลือกตั้งครั้งล่าสุด จนมีผลบังคับใช้ทันการเลือกตั้งที่เพิ่งพ้นไปเมื่อ 3 ก.ค. 2554

เพราะผมคาดว่าการแก้ไขนี้แทนที่จะเป็นประโยชน์กับพรรคขนาดกลาง กลับจะเป็นการเอื้อให้พรรคขนาดใหญ่ได้เปรียบในการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็พิสูจน์ว่าการคาดการณ์ของผมไม่ ดพลาดนัก พรรคเพื่อไทย (265) และพรรคประชาธิปัตย์ (159) ได้ ส.ส. จำนวนรวมกัน 424 คนคิดเป็น 84.5 % จากจำนวน ส.ส. ทั้งสภา 500 คน ในขณะที่พรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาได้เพียง 34 และ 19 ที่นั่งตามลำดับ จนมังกรแห่งเมืองสุพรรณบ่นว่า นี่ไม่ใช่แค่แลนด์สไลด์ แต่เป็นสึนามิทางการเมือง

การแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งมีสาระหลักสองประเด็นคือ หนึ่ง เปลี่ยนเขตเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อจากเดิมที่แบ่งทั้งประเทศออกเป็น 8 เขตๆ ละ 10 ที่นั่ง กลายเป็นเขตเดียวทั่วประเทศ โดยมี ส.ส.ได้ 125 คน แต่มิได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวนจำนวน ส.ส.ในระบบนี้ สอง เปลี่ยนขนาดของเขตเลือกตั้งระบบแบ่งเขตเลือกตั้งจากแบบเขตเดียวหลายที่นั่งเป็นเขตละหนึ่งที่นั่ง (เขตเดียว-คนเดียว) จำนวน 375 คน โดยไม่เปลี่ยนกฎการนับคะแนน

ในระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตนั้น หากเราเปรียบเทียบระหว่างการเลือกตั้งปี 2550 (เขตเดียว-หลายคน) กับปี 2554 (เขตเดียว-คนเดียว) แล้ว โดยทั่วไป เขตขนาดใหญ่และกฎการนับคะแนนที่ผู้ได้คะแนนสูงสุดในเขตหนึ่งๆ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง (first-pass-the-post) จะเอื้อให้พรรคเล็กอยู่รอดมากกว่าเขตขนาดเล็กและกฎการนับคะแนนแบบเดียวกัน

ตัวอย่างเช่นสมมุติว่า ในแบบเขตเดียวคนเดียวแห่งหนึ่ง มีพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยเป็นตัวเต็งอยู่ โดยมีพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวสอดแทรก สมมุติต่อว่า ผมชอบพรรคภูมิใจไทยมากที่สุด รองลงมาคือปชป. ส่วนพท. นั้นผมไม่ชอบเลย แต่เนื่องจากผมคาดได้ว่า โอกาสชนะของภูมิใจไทยมีน้อยที่สุด หากผมลงคะแนนให้แล้ว โอกาสที่ผมจะเสียคะแนนฟรีก็จะสูง เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว ผมก็จะเลือกปชป. ทั้งๆ ที่ชอบน้อยกว่าภูมิใจไทย เพื่อที่จะตีกันไม่ให้พรรคพท. ชนะการเลือกตั้ง ลองเทียบสถานการณ์ข้างต้นกับกรณีที่เป็นเขตใหญ่ 3 ที่นั่งแล้ว (แปลว่าผมมีสิทธิ์กาได้สามเบอร์ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคเดียวกัน) คนอย่างผมก็มีแนวโน้มที่จะกาอย่างน้อยหนึ่งที่นั่งให้กับพรรคภูมิใจไทย เพราะผมคาดได้ว่า โอกาสที่คะแนนของผมจะเสียเปล่ามีน้อยลง ในแง่นี้การลงคะแนนของผมในแบบแรกจึงไม่ใช่การเลือกพรรคที่ถูกใจที่สุด แต่เป็นการลงคะแนนเพื่อกีดกันคนที่เกียดชัง (strategic voter) ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับพรรคใหญ่ แต่จะเป็นโทษกับพรรคเล็ก

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้จึงอาจจะสอดคล้องกับข้อสังเกตุข้างต้น ดังที่ นิธิ เอียวศรีวงค์ วิเคราะห์ไว้ก่อนการเลือกตั้งว่า เป็นการลงคะแนนด้วยความโกรธ แทนที่จะเป็นการลงคะแนนด้วยความชื่นชม ไม่ว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทยหรือปชป. ก็ตาม ผมเดาว่าคนกรุงเทพฯ จำนวนมากเลือกปชป. นั้น ไม่ใช่เพราะชื่นชมผลงานของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่เลือกเพราะกลัวพรรคพท. จะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลายมากกว่า สรุปแล้ว ผมเชื่อว่าเขตเลือกตั้งขนาดเล็กจะเป็นโทษต่อพรรคเล็กมากกว่าเขตเลือกตั้งขนาดใหญ่

เมื่อพิจารณาระบบเลือกตั้งสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งโดยตัวมันเองเอื้อให้ทุกพรรคมีโอกาสได้ที่นั่งมากกว่ากฎการนับคะแนนแบบแบ่งเขตที่เราใช้กันอยู่แล้ว เพราะจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคผันแปรโดยตรง ตามสัดส่วนของคนที่ได้รับอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ผลการเลือกตั้งของกรุงเทพฯ ทั้ง 33 เขตนั้น หากคิดแบบสัดส่วนแล้วพท. จะได้ ส.ส. เกือบ 14 คน เพราะพท. ได้คะแนนรวมทุกเขตของกรุงเทพฯ ประมาณ 42 % ในขณะที่ปชป. จะได้ ส.ส. เกือบ 15 คน เพราะปชป. ได้คะแนนประมาณ 44 % แต่เมื่อใช้กฎการนับคะแนนแบบที่เป็นอยู่ทำให้ปชป. ได้ ส.ส. มากกว่าพท. ถึง 13 คน โดยไม่มีพรรคอื่นใดได้ ส.ส. เลย ดังนั้น ระบบสัดส่วนย่อยเอื้อให้พรรคขนาดเล็กแจ้งเกิดได้มากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น วิธีการคำนวนในการแปลคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับมาเป็นจำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อนั้น ยิ่งเอื้อประโยชน์ให้พรรคเล็กมากขึ้นไปอีก วิธีการคำนวณปัจจุบันแบ่งการคิดออกเป็นสามขั้นตอน คือ หนึ่ง เอาคะแนนของทุกพรรคที่ได้รับมารวมกันแล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมดที่มีได้ (คือ 125 ) ซึ่งจะได้คะแนนเฉลี่ยต่อคนของ ส.ส. (32,525,504 / 125 = 260,204) สอง เอาคะแนนเฉลี่ยนี้ไปหารคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคได้รับก็จะได้จำนวน ส.ส. รอบแรกที่เป็นตัวเลขไม่มีเศษ เช่น เพื่อไทยได้คะแนน 15,744,190 หารด้วย 260,204 จะได้ 60.5071 ทำให้พท. ได้ ส.ส. รอบแรก 60 คนเหลือเศษ 0.5071 ส่วนพรรคปชป. จะได้ ส.ส. รอบแรก 43 คนเหลือเศษ 0.9415

ในขณะที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ จะไม่ได้ ส.ส. ในรอบแรกเลย แต่จะเหลือเศษ 0.4834 สาม นำเอาเศษที่เหลือของทุกพรรคมาเรียงจากมากไปหาน้อย แล้วค่อยจัดสรรจำนวน ส.ส. ที่เหลือจากรอบแรกมาจัดสรรให้แต่ละพรรคตามลำดับจนหมด ผลการจัดสรรรอบแรกของการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ ส.ส. ของทุกพรรค 115 คน จึงมีตำแหน่ง ส.ส. ที่เหลืออีก 10 ไปจัดสรรในรอบสอง โดยเศษที่มีค่าสูงสุดเป็นของพรรคปชป. (0.9415)

ส่วนเศษลำดับที่สิบคือ 0.4834 ของพรรคประชาธิปไตยใหม่ ทำให้พรรคนี้ได้ ส.ส. คนสุดท้ายของระบบบัญชีรายชื่อไปครอบครอง หากเราทอนเศษทั้งสองนี้กลับไปเป็นคะแนนเสียงแล้ว เศษของพรรคปชป. คิดเป็น 244,982 คะแนน ในขณะที่เศษของประชาธิปไตยใหม่คิดเป็น 125,782 คะแนนเท่านั้น ซึ่งห่างกันถึง 119,200 คะแนนที่เดียว วิธีการคำนวณเช่นนี้จึงทำให้พรรคขนาดเล็กที่มีฐานเสียงกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีโอกาสได้ ส.ส. ได้ง่ายขึ้นในระบบบัญชีรายชื่อ แม้ว่าจะไม่สามารถชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตได้เลยก็ตาม

สรุปแล้ว ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต (เขตเดียว-คนเดียว) เข้าข้างพรรคใหญ่ แต่ระบบบัญชีรายชื่อเข้าข้างพรรคเล็ก แต่เมื่อส่วนใหญ่ของ ส.ส. เป็นแบบแบ่งเขต ดังนั้น จึงอาจสรุปได้ว่า ภาพรวมของระบบเลือกตั้งไทยเข้าข้างพรรคใหญ่ ข้อสรุปนี้ทำให้ผมคาดการณ์ต่อไปว่า หากไม่มีการแก้ไขระบบเลือกตั้งในอนาคตแล้ว ในระยะยาวขึ้นการเมืองไทยจะมีลักษณะดังนี้

หนึ่ง จะเป็นการเมืองของระบบสองพรรคใหญ่ แบบเดียวกับประเทศอังกฤษ พรรคการเมืองขนาดกลางจะกลายเป็นพรรคขนาดเล็กลง ดังเช่นที่เกิดกับพรรคชาติไทยพัฒนาและภูมิใจไทย ซึ่งอาจส่งผลให้รัฐบาลในอนาคตสามารถจัดตั้งรัฐบาลจากพรรคเดียวมากขึ้น พูดอีกแบบหนึ่งคือ รัฐบาลอาจจะมีเสถียรภาพมากขึ้นด้วย เพราะพรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองน้อยลงเรื่อยๆ (เพราะกลายเป็นพรรคเล็กในที่สุด)

สอง พรรคขนาดเล็กที่เป็นตัวแทนของประเด็นเฉพาะๆ (single issue political party) เช่น พรรคกรีน เน้นปัญหาสิ่งแวดล้อม พรรคเครือข่ายหนี้สินชาวนา พรรคกรรมกร พรรคชูวิทย์ ฯลฯ ซึ่งมีฐานเสียงกระจายอยู่ทั่วประเทศท้องที่ละเล็กละน้อยก็จะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งมากขึ้น สิ่งนี้ย่อมเป็นคุณกับระบบประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง เพราะพรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านี้ย่อมสะท้อนความหลายหลากของกลุ่มคนได้ดีขึ้นในรัฐสภา โดยที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหารัฐบาลอายุสั้นดังเช่นในอดีต ที่ระบบการเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ช่วยให้พรรคขนาดกลางมีชีวิตได้ยืนยาวกว่าที่ควร