ThaiPublica > คอลัมน์ > ตื่นเถิดชาวไทย .. นโยบายขายฝัน

ตื่นเถิดชาวไทย .. นโยบายขายฝัน

19 กันยายน 2011


รณพงศ์ คำนวณทิพย์
Twitter: @rockdaworld

หากใครเกิดทันคงจะจำการโฆษณาทางโทรทัศน์เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ที่เรียกกันว่า “โฆษณาชวนเชื่อ” ได้ สมัยนั้นยังไม่มีภาพยนตร์โฆษณาเสีย แต่จะใช้วิธีนำสินค้าของผู้สนับสนุนรายการมาวางเรียงกันอยู่บนโต๊ะอย่างสวยงาม มีการแพนกล้องไปทีละสินค้า และมีโฆษกคอยบรรยายสรรพคุณของสินค้าเหล่านั้นอย่างสนุกสนานและออกรส หลายคนอาจนึกถึงคุณเทิ่ง สติเฟื่อง (ขออภัยที่เอ่ยนาม) เพราะท่านเป็นโฆษกยอดนิยมแห่งยุคนั้นเลยครับ

ในสมัยนั้น คำโฆษณาประเภท ที่สุด.. อันดับหนึ่ง.. เห็นผลทันตา.. หล่อจนสาวหลง.. ถูกนำมาใช้ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดใดๆ

อย่างไรก็ตามไม่พบว่าผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าในยุคนั้นจะมีปัญหามากนัก อาจเป็นเพราะผู้บริโภคก็ไม่ได้ติดใจอะไรกับคำโฆษณาเหล่านั้นมากนัก และยังไม่ได้ตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองพึงมีในการเรียกร้องเอาผิดกับผู้ผลิตสินค้าและบริการต่างๆ

ตั้งแต่เรามีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ. 2522 ซึ่งมีสาระสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าและบริการ จากภาคธุรกิจเอกชนให้ได้รับความเป็นธรรม ให้ได้ผลตามที่อวดอ้างสรรพคุณนั้น ก็นับเป็นการปฏิวัติวงการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาคธุรกิจเอกชนกันเลยทีเดียว ต้องถือว่าเป็นยุคที่สิทธิของผู้บริโภคเบ่งบาน มีการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน สถิติต่างๆที่นำมาใช้ในการโฆษณาอย่างเช่น “ผู้หญิง 9 ใน 10 ใช้แล้ว…” จะมากล่าวอ้างแบบลอยๆ แบบสมัยก่อนไม่ได้แล้ว จึงนับเป็นข้อจำกัดที่สำคัญของนักการตลาดและภาคธุรกิจ เพราะต้องระบุรายละเอียดทั้งหมดว่าทำการทดลองโดยใช้กลุ่มตัวอย่างกี่คน ที่ไหนด้วย เช่น ในกรณีนี้อาจทดลองกับผู้หญิงจำนวนแค่ 30 คน ในห้องวิจัย ที่ประเทศบราซิล แน่นอนว่าถึงแม้เจ้าของสินค้าจะไม่อยากเผยข้อมูลนี้ แต่ก็จำใจต้องบอก ส่วนบอกแล้วจะส่งผลอย่างไรก็อยู่ที่ผู้บริโภคเป็นคนตัดสิน ดังนั้นหากผู้ผลิตต้องการให้ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ก็สามารถทำได้โดยการลงทุนทำการวิจัยในประเทศไทย ด้วยกลุ่มตัวอย่างจำนวนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคชาวไทยเกิดความมั่นใจ นับเป็นการส่งเสริมเสรีภาพในการดำเนินธุรกิจ และสร้าง “ความโปร่งใส” ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีครับ

โฆษณาที่ใช้ภาพประกอบก็เช่นเดียวกัน ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ภาพจริง บรรยากาศจำลอง หรือภาพที่ใช้การตกแต่งโดยคอมพิวเตอร์กราฟฟิค หรือภาพอาหารที่อาจดูสวยงามกว่าของจริงเพราะมีองค์ประกอบอื่นๆ ก็ต้องอธิบายให้ชัดเจน ถึงแม้กฎหมายและกฎระเบียบจะไม่ได้ระบุข้อบังคับทั้งหมดไว้อย่างชัดเจน แต่ก็มีการยกระดับมาตรฐานจริยธรรม และแนวทางในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดย สคบ. ร่วมกับสมาคมผู้ผลิตสินค้าและผู้ให้บริการต่างๆ

ถึงแม้ข้อบังคับต่างๆ จะไม่ได้ถูกระบุเอาไว้ แต่ผู้ประกอบการก็ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น และพร้อมใจที่จะระบุรายละเอียดทั้งหมดของสินค้า บริการ และการส่งเสริมการขายให้ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากถูกผู้บริโภคร้องเรียน หรือฟ้องร้องเอาผิดได้ครับ เพราะสมัยนี้ผู้บริโภคไม่เหมือนสมัยก่อน รักษาสิทธิของตนเองมากขึ้น และพร้อมที่จะเรียกร้องเอาผิดในกรณีที่ตนเองได้รับความเสียหาย

หากดูสาระสำคัญของ พรบ. คุ้มครองผู้บริโภคแล้วจะเห็นว่าครอบคลุมถึงการอวดอ้างสรรพคุณ อ้างสถิติ ข้อมูลอันไม่เป็นความจริง การสื่อข้อความที่ส่งเสริมให้มีการกระทำผิดกฎหมาย ศีลธรรม ทำให้เกิดความแตกแยก เสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นควบคุมให้องค์กรธุรกิจเอกชนต้องปฏิบัติตนเป็นพลเมือง (Corporate Citizen) ของสังคมไปโดยปริยาย

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการคุ้มครองผู้บริโภคจะทำได้กับภาคธุรกิจเอกชนแต่เพียงฝ่ายเดียว ขณะที่นักการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ จะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ชวนเชื่อ สร้างเรื่องราว (Propaganda) อย่างไรก็ได้ โดยยังไม่มีการควบคุมตรวจสอบ และหากผู้บริโภคซึ่งในที่นี้คือประชาชนได้รับความเสียหายแล้วจะไปเรียกร้องเอาจากที่ไหน?

นโยบายหาเสียงของนักการเมืองที่เป็นแค่นโยบายขายฝันครั้งแล้วครั้งเล่า (จากทุกพรรคการเมือง) อย่างเช่น นโยบายทำทันทีที่ต้องกลายเป็นรอ 10 ปี อย่างเช่น รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย รวมไปถึงนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททันทีทั่วประเทศ หรือ การคืนภาษีรถยนต์คันแรก ซึ่งในที่สุดแล้วก็ทำไม่ได้อย่างที่โฆษณาหาเสียงเอาไว้ เพราะเต็มไปด้วยข้อจำกัด นโยบายบางอย่างที่ปราศจากการกลั่นกรอง เช่น การถมทะเลสร้างเมืองใหม่ ถึงแม้อาจทำได้จริง แต่ก็อาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ที่มีความสลับซับซ้อนอีกมากมาย

นอกจากนี้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สร้างความแตกแยก ความเกลียดชังให้กับผู้คนในสังคม ผ่านทางสื่อสาธารณะอย่างเช่น วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ นับเป็นปัญหาสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ และขัดต่อเจตนารมณ์ของ พรบ.คุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน

น่าสนใจว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองทั้งหลายนั้น เป็นเพียง “วาทกรรมทางการเมือง” ตามที่พวกเขาแก้ตัว หรือ จะเป็น “สัญญาประชาคม” ที่ถือเป็นพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน ถึงแม้ว่าในกรณีนี้ประชาชนจะไม่ได้เสียทรัพย์ให้ได้มาซึ่งสิ่งที่กลุ่มการเมืองต่างๆ ให้สัญญาไว้ จึงไม่เข้าข่ายผิด พรบ. คุ้มครองผู้บริโภค แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนก็ต้อง “ลงทุน” ใช้สิทธิในการลงคะแนนออกเสียงเลือกตั้ง รวมถึงสละเวลาของพวกเขาในการทำกิจกรรมต่างๆ ทุ่มเทแรงกายแรงใจสนับสนุนกลุ่มการเมืองต่างๆ เหล่านั้น

ในสภาวะที่นักการเมือง และกลุ่มการเมืองทั้งหลาย ยังไม่มีมาตรฐานจริยธรรมที่สูงส่งเพียงพอ ..

ถึงเวลาหรือยัง ที่ประชาชนจะตระหนักถึงการรักษาสิทธิของตนเองให้ได้รับความเป็นธรรมจากการให้สัญญาต่างๆ ของนักการเมือง?

ถึงเวลาหรือยัง ที่จะมีกลไกตรวจสอบข้อความและนโยบายต่างๆ ที่นักการเมืองให้สัญญาไว้กับประชาชน?

ถึงเวลาหรือยังกับการมีบทลงโทษกับแคมเปญโฆษณาหาเสียงเกินจริง หรือปลุกระดมให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสื่อมเสียศีลธรรม และสร้างความแตกแยกให้กับคนในสังคม?

..หากยังไม่มีการแก้ไขเรื่องต่างๆ เหล่านี้แล้ว คำว่า “สองมาตรฐาน” ก็คงจะไม่เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมือง.. แต่มันคือความเป็นจริงที่ประชาชนต้องเป็นผู้ถูกเลือกปฏิบัติ ตกเป็นลูกไล่ เป็นเครื่องมือของนักการเมืองอยู่ร่ำไปครับ

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

ส่วนที่ ๑
การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านการโฆษณา

มาตรา ๒๒ การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ

ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม

(๑) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง
(๒) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการสถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม
(๓) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ
(๔) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน
(๕) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ ไม่เป็นข้อความที่ต้องห้ามในการโฆษณาตาม (๑)