ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาพฝัน ภาพลวงและภาพจริง CSR ประเทศไทย

ภาพฝัน ภาพลวงและภาพจริง CSR ประเทศไทย

13 กันยายน 2011


วรัญญา ศรีเสวก

ในช่วงเวลากว่า 7 ปี ที่ผ่านมา สำหรับประเทศไทยถือเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ไม่เพียงแต่ในแวดวงการเมือง

สำหรับแวดวงธุรกิจแล้ว หากมองย้อนกลับไปในช่วงเวลาดังกล่าว จะเห็นว่าการมาถึงของแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility ) และแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจไทย

เป็นจุดเปลี่ยนในเรื่องวิธีคิดในการทำธุรกิจที่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานในการสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

การประกาศนโยบายความยั่งยืนขององค์กร การแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน การตั้งหน่วยงาน CSR การตั้งหน่วยงานความยั่งยืนขององค์กร และสารพัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่ปรากฎผ่านสื่อสารมวลชน ตลอดจนเวทีเสวนา สัมมนาที่เกิดขึ้นอย่างคึกคักในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาดูเหมือนเป็นสัญญาณในทางบวกและเป็นภาพฝันที่ทำให้เราเห็นอนาคตธุรกิจไทยบนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

หากแต่ในทางกลับกัน ถ้าย้อนกลับไปดูผลสำรวจ “สถานการณ์ CSRและความยั่งยืน” ของภาคธุรกิจจากหลายสำนักในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ย่อมเห็นถึง “ความจริง”บางประการที่น่าสนใจ

ประการแรก ในด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรไทยยังคงตามหลังประเทศคู่แข่ง

ผลสำรวจของแกรนด์ ธอนตัน เมื่อปี 2552 ระบุชัดเจนว่าไทยยังคงตามหลังประเทศคู่แข่งด้าน CSR โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ ขณะที่เมื่อลงไปดูภาคอุตสาหกรรมหลักที่เป็นกลุ่มที่ใช้งบประมาณกับการทำ CSR ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลังงาน ก่อสร้าง และภาคการเงิน จากผลวิจัยของ เฟรดดิก วิลเลี่ยมจะเห็นได้ชัดว่าไทยเป็นประเทศสุดท้ายจากผลการสำรวจใน 34 ประเทศ

โดยเฉพาะการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่น้อยที่สุด ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญของธุรกิจในการแสดงบทบาทความรับผิดชอบ ในการลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด

ประการที่ 2 ธุรกิจไทยส่วนใหญ่ยังมีจุดอ่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและธรรมาภิบาล

ในรายงานของ CSR Asia ที่ชื่อว่า CSR in Asia The Real Picture ที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า จากการสำรวจในเรื่องความโปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติเบื้องต้นของ CSR นั้น ยังถือเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ในภูมิภาคเอเชียรวมถึงประเทศไทย เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากนัก โดยในปี 2009 จากการรายงานของ Global Reporting Innitiative (GRI) ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดทำรายงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดมาตรฐานหนึ่งในโลก พบว่ามีบริษัทในเอเชียน้อยมากที่รายงานภายใต้มาตรฐานนี้ ประเทศที่ใช้มาตรฐานนี้ในการเปิดเผยมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลี จีน อินเดีย ตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยมีบริษัทที่เปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานนี้เพียง 3 บริษัท

“การที่บริษัทให้ความสำคัญไม่มากนักกับการจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูล สามารถสะท้อนให้เห็นได้ถึงความไม่สนใจเรื่องความโปร่งใสและการยอมรับการถูกตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่เป็นเครื่องมือนำพาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน” รายงานระบุ

ประการที่ 3 ธุรกิจไทยยังคงเข้าใจ CSR จำกัด และดำเนินการเรื่องนี้เพียงกิจกรรมเพื่อสังคมการบริจาคเงินและสิ่งของ

ในการสำรวจของ “ไพร์ซวอเตอร์ เฮ้าส์ คูเปอร์” ในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างบริษัทชั้นนำในโลกเทียบเคียงกับบริษัทไทย พบว่าในบริบทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมใน 4 ด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย 1. ชุมชน 2. สิ่งแวดล้อม 3. ตลาด 4. สถานที่ทำงาน ธุรกิจไทยยังมุ่งเน้นเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนมากกว่าด้านอื่นๆ เช่นเดียวกับการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำการสำรวจธุรกิจเอกชนกว่า 200 บริษัทในหัวข้อ วิสาหกิจเพื่อสังคมและความรับผิดชอบของบริษัทเพื่อสังคม พบว่า บริษัทเอกชน 97 % ตอบคำถามว่ามีการทำกิจกรรม CSR แต่กิจกรรมส่วนใหญ่ยังคงเน้นการบริจาคเงินและสิ่งของ 98.5 %

จึงอาจกล่าวสรุปได้ว่า ความคึกคักและความตื่นตัวในองค์กรธุรกิจไทยในวันนี้ ยังคงมีช่องว่างที่ยังห่างไกลกับแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่เรียกร้องให้ธุรกิจต้องมีรับผิดชอบต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR in process) ควบคู่ไปกับการดูแลปรับปรุงคุณภาพชีวิตผู้คนในสังคม (CSR after process) ยังไม่รวมถึงกิจกรรมเพื่อสังคมมากมายที่เกิดขึ้นและดูเหมือนว่าจะไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกและสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ดังที่ผู้เขียนจะหาโอกาสกล่าวถึงในครั้งต่อๆ ไป

ในภาพที่เกิดขึ้นวันนี้ จึงเป็นเสมือนภาพลวง…ที่อาจจะทำให้เราไม่ไปถึงไหนหากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ผู้กำกับดูแล ตลอดจนองค์กรธุรกิจไม่ยอมรับความจริง ยอมทำความเข้าใจ ปรับเปลี่ยน

ไม่เช่นนั้นแล้วไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปี หรือจะมีการจัดสำรวจสถานการณ์เรื่องนี้อีกกี่ครั้ง เราคงไม่สามารถไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับที่ผ่านมา!!