ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (5) : รู้จัก “ฌากส์ ชีรัก”

20 ปีไม่สาย ชำระความ “คอร์รัปชั่น” (5) : รู้จัก “ฌากส์ ชีรัก”

2 กันยายน 2011


ฌากส์ ชีรัก ผู้นำฝรั่งเศสผู้พลิกชีวิตจากลูกหลานชาวนาสู่เก้าอี้ประธานาธิบดี
ฌากส์ ชีรัก ผู้นำฝรั่งเศสผู้พลิกชีวิตจากลูกหลานชาวนาสู่เก้าอี้ประธานาธิบดี
(ที่มาของภาพ : REUTERS-http://msnbcmedia.msn.com)

ในโลกนี้มีผู้นำหลายคนที่สามารถพลิกฐานะของตัวเองจากคนธรรมดาๆ มาสู่เก้าอี้บริหารสูงสุดของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น “อับราฮัม ลินคอล์น” ลูกชาวนาผู้ยากจนที่ไต่เต้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ “ซูฮาร์โต”อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ก็ผันตัวเองจากลูกชาวนามาติดอันดับผู้นำที่รวยที่สุดหลังจากครองอำนาจยาวนานถึง 32 ปี

“ฌากส์ เรอเน ชีรัก” เป็นนักการเมืองอีกรายที่สามารถไต่เต้าจากลูกชาวนาจนขึ้นมาอยู่ในฐานะประธานาธิบดี ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสูงสุดของฝรั่งเศส และเป็นนักการเมืองแถวหน้าที่โลดแล่นในแวดวงการเมืองแดนน้ำหอมมายาวนานร่วม 4 ทศวรรษ

ชีรักเกิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2475 เป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว (พี่สาวของชีรักเสียชีวิตตั้งแต่ยังเด็กก่อนที่เขาจะเกิด) พ่อของชีรักเป็นพนักงานธุรการของธนาคาร ก่อนจะเป็นผู้บริหารบริษัทเครื่องบินในกาลต่อมา ขณะที่แม่ของเขาเป็นแม่บ้าน ชีรักมีพื้นเพดั้งเดิมมาจากครอบครัวเกษตรกร แม้ว่ารุ่นปู่และตาของเขาจะทำงานเป็นอาจารย์

เมื่อชีรักอายุประมาณ 20 ปี เขาได้ทุนไปเรียนที่ฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สกูล สหรัฐอเมริกา ที่นั่นทำให้ชีรักได้เข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส พอในปี 2497 ชีรักสำเร็จการศึกษาจาก “แองสติตู เดจูด โปลิติก เดอ ปารี” (Institut d’Etudes Politiques de Paris) มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงสำหรับผู้ที่สนใจด้านการเมืองและการทูต รวมทั้งจบการศึกษาจาก “เอกอล นาซิยงนาล ด๊าดมีนิสทราซิยง” (Ecole Nationale d’Administration) สถาบันสำหรับข้าราชการระดับสูง

สำหรับชีวิตครอบครัว ชีรักสมรสกับ “แบร์นาแดต โชดรง เดอ กูร์แซล” ในปี 2499 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของครอบครัวฝ่ายเจ้าสาว เนื่องจากชีรักมาจากครอบครัวชาวนา ทว่าทั้งสองก็ใช้ชีวิตร่วมกันมายาวนาน และมีลูกสาวด้วยกัน 2 คน คือ โลรองซ์ และ โกลด ซึ่งคนหลังรับหน้าที่ผู้ช่วยด้านประชาสัมพันธ์ให้พ่อมายาวนาน

ฌากส์ ชีรัก และศรีภรรยาแบร์นาแดต (ที่มาของภาพ : AFP-http://ais.badische-zeitung.de

หลังแต่งงานไม่นาน ชีรักเข้ารับการเกณฑ์ทหาร และไปร่วมรบในสงครามแอลจีเรียในปี 2499 เมื่อกลับจากภารกิจรับใช้ชาติ ชีรักกลับมารับราชการ โดยเขายึดแนวทางของนายพลชาร์ลส เดอ โกลล์ กระทั่งถึงปี 2505 ชีรักได้รับมอบหมายให้ดูแลงาน ในสำนักงานเลขานุการของ นายกรัฐมนตรีจอร์จ ปอมปิดู ซึ่งเรียกได้ว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเมืองของชีรักที่ยาวนานกว่า 4 ทศวรรษ

จอร์จ ปอมปิดู เกื้อหนุนชีรักให้เข้าสู่แวดวงการเมือง ผลงานของชีรักเข้าตาจนกระทั่งปอมปิดูตั้งฉายาให้กับฌากส์ ชีรัก ว่า “รถตักดินของผม” ในแง่การทำงานให้บรรลุผล โดยชีรักจะกวาดเอาสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ออกเพื่อให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ปอมปิดูหนุนหลังชีรักให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรที่บ้านเกิดในจังหวัดกอแรซ ในปี 2510 และเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสวัสดิการสังคม รับผิดชอบงานด้านแรงงาน และเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงเศรษฐกิจในปลายยุค 1960 ในช่วงนี้ชีรักได้ทำงานใกล้ชิดกับ “วาเลอรี ยิสการ์ด เดส์แตง” ในฐานะเจ้ากระทรวง และเป็นคู่ต่อการทางการเมืองในเวลาต่อมา

ตำแหน่งบริหารของชีรักเริ่มไต่ระดับสูงขึ้นในปี 2515 เมื่อเขาได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท ในยุคที่ปอมปิดูนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดี และชีรักสามารถสร้างผลงานจนได้รับการสนับสนุนจากเกษตรกร ทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์นโยบายด้านการเกษตรของประเทศยักษ์ใหญ่ ทั้งสหรัฐ เยอรมนีตะวันตก ต่อมาในปี 2517 ชีรักขยับไปคุมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเวลานี้เป็นช่วงที่ชีรักได้รับความไว้วางใจจากปอมปิดูเพื่อปูทางสู่การเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมาถึงในปี 2519 แต่แล้วแผนดังกล่าวก็มีอันต้องยกเลิกหลังปอมปิดูเสียชีวิตอย่างกะทันหัน และวาเลอรี ยิสการ์ด เดส์แตง กลายมาเป็นทายาทการเมืองเพื่อชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีแทนชีรัก

แต่ครั้นยิสการ์ด เดส์แตง ขึ้นคุมทำเนียบเอลีเซ่ เขาก็เสนอชื่อชีรักเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2517 เพื่อตอบแทนที่ชีรักใช้บารมีหนุนหลังเขาแทนที่จะเชียร์คู่แข่ง นับเป็นยุคทองของคนหนุ่มไฟแรงในแวดวงการเมืองฝรั่งเศส

ทว่าการทำงานของชีรักในทำเนียบมาตีญงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมุมมองและไอเดียของชีรักแตกต่างกับยิสการ์ด เดส์แตง รวมทั้งสไตล์การทำงานที่ขัดแย้งกันมาก ทำให้ชีรักตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2519 โดยให้เหตุผลว่ายิสการ์ด เดส์แตง ไม่ต้องการจะให้อำนาจบริหารแก่เขาอย่างแท้จริง

เมื่อพ้นตำแหน่งนายกฯ ชีรักก่อตั้งพรรคการเมือง “แอร์เปแอร์ ” (Rally for the Republic) ที่นำเสนอแนวทางนิยมโกลล์ (Gaullism) เพื่อกรุยทางสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี โดยชีรักหันมาเน้นสนามการเมืองท้องถิ่นเพื่อเป็นฐานที่มั่นสู่ดวงดาว เขาประกาศตัวลงชิงชัยตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครปารีสในปี 2520 เขาได้นั่งเก้าอี้นี้สมความตั้งใจ และยาวนานถึง 18 ปี

น่าสนใจว่า ในฐานะนายกเทศมนตรีนครปารีส ชีรักสั่งสมอิทธิพลทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างมาก เขานำเสนอหลายโครงการเพื่อช่วยคนสูงอายุ คนพิการ คุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกตามลำพัง รวมถึงออกมาตรการกระตุ้นความสนใจให้ภาคธุรกิจลงหลักปักฐานในปารีส

ชีรักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของยิสการ์ด เดส์แตง พร้อมกับโชว์ความพร้อมและศักยภาพเพื่อท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2524 แต่ทั้งชีรักและยิสการ์ด เดส์แตง พ่ายแพ้ให้แก่ “ฟรังซัวส์ มิตแตร์รองต์” กระทั่งปี 2529 เขาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีสมัย 2 ในการร่วมรัฐบาลผสมครั้งแรกกับประธานาธิบดีมิตแตร์รองต์ พอถึงปี 2531 ชีรักลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับมิตแตร์รองต์

ผลการเลือกตั้งที่ออกมาทำให้ความเป็นผู้นำของชีรักในพรรคแอร์เปแอร์ ถูกท้าทายจากนักการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่มองว่าทั้งชีรักและยิสการ์ด เดส์แตง ควรมีส่วนรับผิดชอบกับความปราชัยครั้งนี้ ดังนั้นในการร่วมรัฐบาลผสม ชีรักประกาศจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก พร้อมเสนอชื่อ เอดูอาร์ บัลลาดูร์ เป็นนายกฯ

อย่างไรก็ตาม ชีรักยังคงนั่งเก้าอี้นายกฯ เล็กกรุงปารีส ช่วงนี้เองที่ชีรักถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทุจริตหลายกรณีในศาลาว่าการปารีส

ชีรักกับจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (ที่มาของภาพ : www.eu2005.lu)

กระทั่งปี 2538 ชีรักลงชิงชัยเก้าอี้ประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 3 และประสบความสำเร็จในที่สุด หลังเอาชนะ ลีโอเนล โชสแปง ทำให้ชีรักก้าวสู่ทำเนียบเอลีเซ่เป็นสมัยแรกในเดือนพฤษภาคม พร้อมกับโจทย์หินที่ตามมา ทั้งการฟื้นความเชื่อมั่นจากสาธารณชน การขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และลดอัตราการว่างงาน รวมทั้งยกเครื่องระบบการศึกษา แต่ก็ไม่วายที่รัฐบาลของชีรักต้องเผชิญกับการประท้วงครั้งใหญ่ของพนักงานในช่วงปลายปี ซึ่งชีรักชี้นิ้วโทษ อแลง ชูเป นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นว่าดำเนินนโยบายผิดพลาด

พอถึงช่วงท้ายก่อนครบวาระประธานาธิบดีสมัยแรก สังคมเริ่มตั้งคำถามถึงเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นสมัยที่ชีรักนั่งอยู่ศาลาว่าการปารีส ทั้งการผันเงิน kickbacks จากสัญญาโครงการก่อสร้างไปใช้สนับสนุนพรรคแอร์เปแอร์ รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งปลอม ข้อครหาเรื่องที่ชีรักใช้เงินหลวงในการเดินทางและค่าใช้จ่ายส่วนตัว แต่ชีรักมีเอกสิทธิ์คุ้มครองทางกฎหมายในฐานะประธานาธิบดีทำให้ไม่ถูกดำเนินคดี

ชีรักลงสมัครท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัย 2 อีกในปี 2545 และด้วยความเจนสนามเลือกตั้ง ทำให้หนนี้ชีรักที่ได้คะแนนร่อแร่ในรอบแรก กลับมีชัยเหนือ “ฌอง-มารี เลอ แปง” นักการเมืองขวาจัดที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรง โดยชีรักใช้แคมเปญโจมตีฌอง-มารี เลอ แปง อย่างรุนแรง จนทำให้ชีรักได้คะแนนอย่างถล่มทลาย 82% อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน

ปี 2546 ชีรักสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับประชาคมโลกจากการงัดข้อกับ “ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช” แห่งสหรัฐ เมื่อเขาแสดงท่าทีคัดค้านการบุกอิรักในปี 2546 และนำไปสู่ความสัมพันธ์กับสหรัฐที่ย่ำแย่ลงในช่วงหลังจากนั้น

หลังพ้นวาระประธานาธิบดีสมัย 2 ในปี 2550 เขาได้รับตำแหน่งเป็นสมาชิกตลอดชีพของสภารัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส อีกทั้งก่อตั้งมูลนิธีฌากส์ ชีรัก เพื่อวัฒนธรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทว่าชีวิตบั้นปลายของชีรักก็หนีไม่พ้นขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อค้นหาความจริงท่ามกลางซีรีส์คอร์รัปชั่นที่เขาถูกพาดพิงว่ามีส่วนรู้เห็นในสมัยที่กุมอำนาจในศาลาว่าการเทศบาลนครปารีส

เปิดตัวมูลนิธิฌากส์ ชีรัก ฟาวน์เดชั่น หลังพ้นตำแหน่งประธานาธิบดี (ที่มาของภาพ: EPA-www.rnw.nl)

ที่มา : รอยเตอร์ส เอพี เอเอฟพี ไทม์ บีบีซี เอบีซี บลูมเบิร์ก อีโคโนมิสต์ เทเลกราฟ เดอะการ์เดี้ยน นิวยอร์กไทม์ส วอชิงตันไทม์ส ชิคาโกทริบูน เดลีเมล์ เอเอฟเอ็กซ์ วิกิพีเดีย report.globalintegrity.org, news.scotsman.com, www.bonjourlafrance.com, www.theatlanticwire.com