ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเป็นจริงวันนี้

ความเป็นจริงวันนี้

9 กันยายน 2011


สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าตัวการสำคัญที่ทำให้โลกต้องเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมถึงขั้นสาหัสสากัณฑ์อยู่ทุกวันนี้ หนีไม่พ้นการบริโภคทรัพยากรทิ้งๆ ขว้างๆ ในอัตราและปริมาณมหาศาล ขับเคลื่อนโดยระบบเศรษฐกิจการตลาดที่ไม่คิดราคาต้นทุนที่แท้จริงของสิ่งแวดล้อม

สองวิชาว่าด้วยศาสตร์แห่ง eco หรือ oikos– “บ้าน” ในรากภาษากรีก ได้แก่ economic เศรษฐศาสตร์ และ ecology นิเวศวิทยา แม้จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับบ้านหรือโลกใบนี้ของเราเหมือนกัน แต่ระบบเศรษฐกิจที่มนุษย์สร้างขึ้นทุกวันนี้กลับกลายเป็นระบบที่ไม่สอดคล้องกับระบบผลิตในวงจรธรรมชาติเลย

เรียน eco เหมือนกันแท้ๆ แต่กลับพูดกันไม่ค่อยจะรู้เรื่อง

เลยกลายเป็นว่าสินค้าและบริการหลายอย่างในสังคมที่มีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมสูง เช่น พืชผักที่ใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมี ซึ่งใช้น้ำมันปริมาณมากในการผลิต สามารถขายได้ในราคาถูกกว่าพืชผักอินทรีย์ปลอดสารที่อาศัยการดูแลระบบนิเวศตามธรรมชาติในดินเกื้อกูลการเจริญเติบโต มันเป็นเรื่องที่ทำให้เข้าใจเศรษฐศาสตร์ระบบตลาดปัจจุบันได้ยาก ธรรมชาติใช้เวลา 60 ล้านปีผลิตน้ำมัน ขุดเจาะขึ้นเอามาเผาแล้วทำโลกร้อน เอามาผลิตปุ๋ยไนโตรเจนก็ทำให้โลกร้อนมากขึ้นไปอีก แถมทำลายระบบนิเวศในดิน ทำให้ดินตาย ชะลงน้ำลงทะเลก็ทำให้สัตว์ในทะเลตาย ซ้ำกระบวนการผลิตปุ๋ยก็ต้องลงทุนลงแรงสร้างโรงงาน บริหารโรงงาน ทำการตลาด ฯลฯ ใส่พลังงานลงไปมากขนาดนี้ เหตุไฉนพืชผักเคมีจึงราคาถูก สำหรับคนที่เรียนวิชาคำนวณบวกลบคูณหารแบบตรงไปตรงมา กดเครื่องคิดเลขทำบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างไร ก็ไม่เห็นว่ามันควรจะถูกได้เลย

นี่คือความสามารถพิเศษของมนุษย์ เราสร้างระบบตลาดที่ไม่สะท้อนราคาที่แท้จริงของระบบธรรมชาติ ทั้งๆที่เราเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง ต้องพึ่งพาระบบธรรมชาติเพื่อดำรงพื้นฐานชีวิต หายใจ กิน ขี้ ปี้ เยี่ยว เลี้ยงดูลูกหลาน เหมือนกับสัตว์อื่นๆ แต่เรากลับไปเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจการตลาดที่เราสร้างขึ้นมาทุกวันนี้คือ “ความเป็นจริง” ในชีวิตจริง และคนจำนวนไม่น้อยมองว่าพวกนักอนุรักษ์ นักสิ่งแวดล้อม เป็นคนที่ไม่มองโลกตาม “ความเป็นจริง”

แต่ความเป็นจริงก็คือ มันมีความเป็นจริงทางนิเวศและความเป็นจริงของสังคมมนุษย์ ทั้งนักนิเวศวิทยาและนักเศรษฐศาสตร์ต่างก็พยายามเข้าใจโลกตามจริง และเราขาดมุมมองทั้งสองไม่ได้เลย ตราบเท่าที่มนุษย์ยังเป็นสัตว์ และตราบเท่าที่มนุษย์ต้องอยู่ร่วมกับมนุษย์อื่น เพราะเราเป็นสัตว์สังคม เราแบ่งหน้าที่ทำงาน พึ่งพาอาศัยกัน

ทางออกของเราจึงต้องทำให้ความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของสังคมมนุษย์สะท้อนความเป็นจริงทางนิเวศ ทั้งสองระบบ ทั้งสองมุมมอง ต้องไปด้วยกัน ส่งเสริมกัน ไม่ใช่ขัดแย้งกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนได้คุยกับนักเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมชาวเยอรมันคนหนึ่ง ชื่อคุณไค ชเลเกลมิลค์ (Kai Schlegelmilch) เขาอธิบายว่า ทุกวันนี้ ประชากร 5-10 % ในสังคมเปรียบเสมือนคนเดินขึ้นเขา เป็นกลุ่มคนที่ตัดสินใจทำสิ่งที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ไร้เหตุผลทางการเงินโดยสิ้นเชิง แต่ก็เลือกกระทำเพื่อส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ปัญหาก็คือตราบใดที่ทางเดินสีเขียวเป็นทางเดินขึ้นเขาชัน คนเดินต้องออกแรงต้านแรงดึงดูดโลก คนส่วนใหญ่ก็จะไม่เลือกเดินทางนี้ ซึ่งหมายความว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างยั่งยืนในวงกว้าง เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกฎกติกาในสังคมเพื่อปรับองศาความลาดชันให้ทางเดินสีเขียวเป็นเส้นทางที่ราบขึ้นจนคนอีก 90 % ที่เหลือหันมาเดินทางนี้ เพราะมันเป็นทางเดินสะดวก คุ้มค่า กำไรดี โอ้ว! และแถมสิ่งแวดล้อมดีด้วย

Kai Schlegelmilch
Kai Schlegelmilch ที่มาภาพ: นิตยสาร สารคดี ฉบับเดือนสิงหาคม 2554

กฎกติกาที่ว่าคือนโยบายและกฎหมายที่จะส่งผลให้ราคาสินค้าและการบริการในตลาดสะท้อนความเป็นจริงทางนิเวศ เพื่อจูงใจให้คนส่วนใหญ่หันมาตัดสินใจลงทุน จับจ่าย และเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนั่นคือความเป็นจริงที่สัตว์บนโลกอย่างเราต้องยอมรับ

หมายความว่ารัฐบาลต้องปฎิบัติการอีโคสองเด้ง ดูแลบ้านช่องและการบัญชีให้ดี เก็บภาษีสิ่งที่เป็นโทษต่อสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในสังคม และต้องเลิกอุดหนุนการประกอบการหรือกิจกรรมใดๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม (เช่น เกษตรกรใช้สารเคมี) พูดง่ายๆ ให้ครอบคลุมตามสำนวนคุณไค คือ แรงจูงใจทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่วิ่งสวนทางกับเป้าหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมควรจะได้รับการแก้ไข

ที่เหลือก็แล้วแต่จะจินตนาการคิดออกแบบกฎกติกา กูเกิ้ลเข้าไปหาดูตัวอย่างได้มากมาย อิตาลีออกกองทุนดอกเบี้ยต่ำให้เจ้าของอาคารปรับปรุงตึกรามบ้านช่องให้ประหยัดพลังงานภายใน 5 ปีก่อนเริ่มเก็บภาษีพลังงานกับอาคาร ลอนดอนเก็บค่าทำจราจรติดขัดกับรถยนต์ เยอรมันเก็บภาษีการบิน และแน่นอนว่าเก็บภาษีพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และภาษีถุงพลาสติกตามห้าง อันนี้พื้นฐานสุดๆ

หลายประเทศได้เริ่มดำเนินการเหล่านี้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศในสหภาพยุโรป ริเริ่มไปกว่า 10 ปี บางประเทศเกือบ 20 ปี และหลายประเทศในเอเชียก็เริ่มแล้ว มาตรการการคลังเหล่านี้ทำพรวดพราดไม่ได้ ต้องค่อยๆ ทำ เพื่อให้ผู้คนในสังคมสามารถค่อยๆ ปรับตัวได้ ใครเริ่มมานานก็ทำได้มาก และจะได้เปรียบทางการค้าเมื่อเกิดข้อตกลงระดับโลกขึ้น

เรากำลังพูดถึงอนาคตอันใกล้ เพราะปีหน้าสังคมโลกมีนัดประชุมที่กรุงรีโอ ประเทศบราซิล ว่าด้วยวาระ “เศรษฐศาสตร์สีเขียว” เพื่อสิ่งแวดล้อม

หันมาดูประเทศไทย เรากำลังทำอะไรอยู่ เรามีนโยบายสวนทางกระแสโลก ภาษีรถยนต์บ้านเรา 15-25 % ในขณะที่ภาษีรถจักรยานพับได้สูงถึง 30 % ทั้งๆ ที่มันเป็นพาหนะปลอดมลพิษที่เหมาะที่สุดแก่การสัญจรในกรุง ทุกวันนี้ ไม่ว่าเราจะบ่นว่าน้ำมันแพงขนาดไหน แต่ราคาน้ำมันในบ้านเราก็แทบจะถูกที่สุดในโลก และมีทีท่าว่าจะทำให้ถูกลงอย่างฮวบฮาบ เราไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพื่อลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติกเลยไม่ว่าจะในรัฐบาลยุคใด

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อหลายๆ ประเทศเสียภาษีคาร์บอนหรือภาษีพลังงาน แต่เราไม่เสีย ในอนาคตประเทศที่มีกฎหมายภาษีคาร์บอนอาจไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากไทยแลนด์ได้ หรือมีกติกาบังคับให้ผู้ส่งออกสินค้าไทยต้องเสียภาษีคาร์บอนแก่ประเทศคู่ค้า แทนที่เม็ดเงินนั้นจะจ่ายเข้าคลังประเทศไทยในรูปแบบของภาษีภายในประเทศ เรากลับอาจต้องจ่ายให้แก่ประเทศอื่น

ตื่นเถิดชาวไทย เลิกฝันถึงน้ำมันราคาถูก เผชิญหน้ากับโลกของความจริง เพราะความเป็นจริงทางเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อมกำลังจูนคลื่นเข้าหากัน

ตีพิมพ์ครั้งแรก : หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ, กันยายน 2554