ThaiPublica > คนในข่าว > “ขวัญชัย วงศ์นิติกร” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจงงบอปท.

“ขวัญชัย วงศ์นิติกร” อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นแจงงบอปท.

27 กันยายน 2011


นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย  ภาพจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ภาพจากเว็บไซต์กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น

หลังจากสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอข่าวตรวจสอบการใช้จ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 10 ปีที่ผ่าน พบว่าอปท.ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินและเงินรายได้จากภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่างๆ ไปฝากกินดอกเบี้ยอยู่ที่แบงก์พาณิชย์รวมกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่การถ่ายโอนงาน และภารกิจยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายตามแผนการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมารัฐบาลกลางได้มีการโอนเงินงบประมาณไปให้อปท.เพิ่มขึ้นทุกปี

ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวว่าการโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีชื่ออธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ในโผด้วย ทั้งนี้เนื่องจากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้คุมเงินงบประมาณที่จัดสรรให้อปท.โดยแต่ละปีจำนวนมาก ล่าสุดงบประมาณรายจ่ายปี 2555 จำนวน 1.98 ล้านล้านบาท จัดสรรให้อปท. 25 % ของงบประมาณรายจ่าย คิดเป็น 495,000 ล้านบาท ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีหรือไม่ต้องติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตามต่อเรื่องนี้ นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยให้สัมภาษณ์โดยชี้แจงประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้

ไทยพับลิก้า : ทำไมอปท. มีเงินไปฝากแบงก์กว่า 2 แสนล้านบาท

ก็มีความเป็นไปได้น่ะ ปัจจุบันทั่้วประเทศมีองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) มากถึง 7,853 แห่ง ถ้านำเงินมาฝากกันคนละ 1-2 แสนบาท แค่นี้ก็เป็นจำนวนเงินที่มากพอสมควรแล้วนะ นอกจากนี้อปท.แต่ละแห่ง ต้องมีการสำรองเงินหรือกันเงินเอาไว้เบิกจ่ายอย่างน้อยก็ต้อง 3 เดือน เหมือนเงินคงคลัง ซึ่งข้อดีมันก็มี อย่างปีนี้ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ตรงนี้สามารถเบิกเอาออกมาใช้จ่ายไปพลางๆ ก่อนได้ และถ้าอปท.ไม่มีเงินแล้วจะให้ไปเอาเงินที่ไหนมาใช้ล่ะ

ขณะเดียวกันอปท.ก็มีกองทุนเงินสะสมขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เราสะสมเอาไว้ใช้จ่ายด้วย แต่เวลาจะเอาออกมาใช้จะต้องขออนุญาตรัฐสภา และสมาชิกของกองทุนสะสมทุกครั้ง ซึ่งสมาชิกกองทุนจะต้องเห็นชอบทั้งหมด ถึงจะเอาออกมาใช้จ่ายได้

ไทยพับลิก้า : มีอบต.หลายแห่งปิดงบฯ ไม่ได้ สตง. ไม่รับรองบัญชี มีข้อเท็จจริงอย่างไร

ต้องปิดได้สิ เพราะอบต.ต้องทำตามพ.ร.บ.งบประมาณ เวลาจะใช้เงินอะไรก็ตาม ต้องให้สภาเห็นชอบด้วยทุกครั้ง จากนั้นเมื่องบฯผ่านสภาแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้กำกับดูแลการใช้จ่ายเงิน และเป็นผู้อนุมัติงบด้วย แต่ถ้าเป็นระดับอบต. นายอำเภอเป็นผู้อนุมัติ ส่วนเทศบาลเมือง เทศบาลนคร ท่านผู้ว่าราชการเป็นคนอนุมัติ ซึ่งการใช้จ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์จะต้องมีการตรวจสอบว่าเอาเงินไปใช้จ่ายอะไร

“การจัดทำงบประมาณของอปท.แต่ละแห่งมีประมาณการรายได้ ประมาณการรายจ่าย เหมือนกับการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลกลาง ถ้ามีเงินรายได้ไม่พอ ก็ไปกู้เขามาใช้จ่าย แต่ปีหน้า หรือปีถัดไปคุณต้องกันงบฯ เตรียมไว้ใช้หนี้ด้วยนะ นอกจากนี้อปท.ยังจะต้องควบคุมงบฯ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรให้ไม่เกิน 40 % ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ขณะเดียวกันต้องกันงบฯที่จะนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 35 % เขามีระเบียบกำหนดไว้อยู่นะ ทุกอย่างถูกล็อคเอาไว้หมด ไม่ใช่ว่าจะเอางบฯ ไปทำอะไรกันได้ง่ายๆ”

ไทยพับลิก้า : ประเด็นที่อปท.หลายแห่งปิดงบฯไม่ได้ สตง.จึงไม่รับรองงบดุลงบการเงิน ทำให้กรมบัญชีกลางไม่สามารถจัดทำบัญชีข้อมูลการเงินการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศได้

ไม่..ไม่ สตง.เขาตรวจเป็นกันรายอบต. แต่ละอบต.หรือ อปท.จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความเป็นอิสระต่อกัน ซึ่งทุกปีทางสตง. มาตรวจสอบกันเป็นรายละนิติบุคคลไป จะจับมารวมบัญชีกันทั่วประเทศ คงไม่ได้

ไทยพับลิก้า : แต่วัตถุประสงค์ของการรวมบัญชีอปท.เพื่อดูฐานะการเงินของรัฐบาลท้องถิ่น

ตอนนี้ในส่วนกรมส่งเสริมการปกครองของเราได้วางระบบ E-BUDGETTING และ E-LAAS ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลการเงินการคลังของอปท.ทุกประเภท ตอนนี้ทำไปเกือบหมดแล้ว เหลือประมาณ 10 กว่าจังหวัดที่ยังปรับปรุงระบบไม่ทัน แต่ทำบัญชีงบการเงินไปเกือบทั้งหมดแล้ว

ไทยพับลิก้า : กรณีที่สตง.เข้าไปสุ่มตรวจอบต.จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบการถ่ายโอนงาน และภารกิจจากรัฐบาลกลางไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ตรงนี้จะทำอย่างไร

ประเด็นนี้ผมยอมรับนะ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น พยายามผลักดันปัญหานี้มาตลอด แต่พอเรื่องไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกระจายอำนาจการปกครองให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีประเด็นนำเข้าไปถกเถียงในที่ประชุมหลายประเด็น เช่น บางส่วนราชการโอนงานไปให้ท้องถิ่นแล้ว ปรากฏว่าส่วนราชการไม่โอนเงินงบประมาณตามมา หรือบางส่วนราชการโอนงานไปให้ท้องถิ่นทำมาแล้วประมาณ 1 ปี แต่พอมีการนำเรื่องเข้าไปสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ ปรากฏว่าภารกิจหรืองานที่โอนมาแล้วถูกดึงกลับมาที่ส่วนกลาง ผมตั้งงบฯ คืนส่วนราชการวุ่นวายไปหมด ยังมีอีกหลายๆ เรื่อง

ไทยพับลิก้า : ขอตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ได้ไหม

อย่างเช่นเมื่อก่อนมีการโอนกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้อปท. ตอนนี้ถูกดึงกลับมาอยู่ที่ส่วนกลาง และผมต้องโอนงบประมาณกลับมาตั้งไว้ที่ส่วนกลางเหมือนเดิน มันกลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ ทางกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเลยงงๆว่าไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น

หรือกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุข งานของทั้ง 2 กระทรวง ถือเป็นภารกิจพื้นฐานที่สำคัญของท้องถิ่น ควรจะโอนงานมาให้ท้องถิ่น ทั้งๆที่เขาทำได้ แต่ไม่ยอมโอนงานมาให้ เงินงบประมาณโอนมาแล้ว แต่งานไม่โอนตามมา เป็นปัญหาที่ยังต้องหาทางแก้ไขต่อไป

ไทยพับลิก้า : 10 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการประเมินผลของการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่นหรือไม่

ก็มีนะ ตอนนี้ผมได้มอบหมายให้คุณปรีชา วัชราภัย ผู้อำนวยการสถาบันที่ปรึกษา เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพราชการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของแผนการกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ท้องถิ่น 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ ผมได้ขอให้ท่านทำเป็นกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เลย คาดว่าอีก 3-4 เดือนคงจะเสร็จ เพื่อนำข้อมูลนี้ไปผลักดันงานที่เป็นปัญหาต่อไป คุณปริชาเคยเป็นอดีตเลขาธิการก.พ. ทราบปัญหาของการถ่ายโอนงานจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น และตอนนี้มานั่งอยู่ในคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.)ด้วย ยิ่งทำให้เนื้องานมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น