ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดบันทึก Grand Corruption (1) : 10 ผู้นำโคตรโกง โลกไม่ลืม

เปิดบันทึก Grand Corruption (1) : 10 ผู้นำโคตรโกง โลกไม่ลืม

29 สิงหาคม 2011


4 ผู้นำโกง ซูฮาร์โต-ฟูจิโมริ-อะบาชา-ดูวาลิเยร์

…มิถุนายน 2541

เพียง 1 สัปดาห์ หลังพิธีฝังศพ พลเอกซานี อะบาชา ผ่านพ้นไปอย่างเงียบๆ และเรียบง่าย ปราศจากกองเกียรติยศใดๆ มาไว้อาลัยให้กับอดีตผู้นำเผด็จการทหาร วัย 53 ปี ก่อนที่ภริยาหม้ายของอะบาซา จะเดินทางไปยังซาอุดิ อาระเบีย ทางการไนจีเรีย ได้สั่งอายัดกระเป๋าเดินทางลึกลับ 38 ใบ ณ สนามบินกาโน ซึ่งภายในอัดแน่นไปด้วยเงินสด

ไม่มีรายงานใดยืนยันว่า กระเป๋าเหล่านี้เป็นของใคร แต่นับจากนั้น กระบวนการไล่ล่าเงินหลายพันล้านดอลลาร์ที่เชื่อกันว่า ได้ถูกยักยอกถ่ายเทไปยังบัญชีในต่างประเทศ โดยพลเอกอะบาชา สมัยยังเรืองอำนาจได้เริ่มต้นขึ้นทันที

1 ปีต่อมา ทางการสวิตเซอร์แลนด์ได้สั่งอายัดเงินในบัญชีต่างๆ ที่เป็นของอะบาชาตามคำร้องขอของรัฐบาลไนจีเรีย รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 700 ล้านดอลลาร์และต่อมาในปี 2548 ได้ทำข้อตกลงส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าว คืนแก่ไนจีเรียเพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการสาธารณสุขและการศึกษา

700 ล้านดอลลาร์ ที่ไนจีเรียได้รับจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นเพียงบางส่วนของเงิน 2-5 พันล้านดอลลาร์ที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติประเมินว่า อะบาชาได้ยักยอกเอาไปตลอด 5 ปี ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ หลังจากยึดอำนาจมาจากอิบราฮิม บาบันกิดา ผู้นำรัฐบาลทหารคนก่อน ในปี 2536

อะบาชาถือเป็นผู้นำที่คอร์รัปชั่นเงินหลวงไปมากที่สุดเป็นอันดับ 4 จาก 10 ผู้นำที่ถูกตราหน้าว่า ยักยอกเงินของประเทศไปเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การคอร์รัปชั่น

เงินที่เขายักยอกไปมีสัดส่วนประมาณ 1.5-3.7 % ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เฉลี่ย 2.71 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วง 5 ปี (2536-2541) ที่อะบาชาปกครองไนจีเรีย

นอกเหนือจากอะบาชาแล้ว อันดับหนึ่งของผู้นำโคตรโกง คือ โมฮัมหมัด ซูฮาร์โต อดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ด้วยสถิติการยักยอกเงินประเทศไปมากถึง 1.5-3.5 หมื่นล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 0.6-1.3 % ของจีดีพีในช่วงเวลาที่เขาปกครองประเทศ

ในยุคของซูอาร์โต มูลค่าจีดีพีของอินโดนีเซีย โดยเฉลี่ย อยู่ที่ 8.66 หมื่นล้านดอลลาร์

ซูฮาร์โตก้าวขึ้นสู่อำนาจในฐานะประธานาธิบดี หลังจากก่อรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2509 และได้ปกครองอินโดนีเซียมาอย่างยาวนานถึง 32 ปีก่อนที่จะถูกพลังประชาชนโค่นอำนาจลงในปี 2541 หลังจากนั้น ซูฮาร์โตได้เก็บตัวเงียบอยู่ที่คฤหาสน์ชานกรุงจาการ์ตามาโดยตลอดและเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการเส้นเลือดในสมองอุดตัน

ซูฮาร์โตปรากฏตัวครั้งสุดท้ายในงานวันเกิดครบรอบ 86 ปีของตัวเขาเอง

ในยุคที่ซูฮาร์โตเรืองอำนาจนั้น มีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกฆ่าตายร่วมล้านคน แต่ปรากฏว่าทั้งตัวซูฮาร์โตเอง และลูกน้องไม่เคยถูกนำตัวมาดำเนินคดีด้วยเรื่องนี้เลย รวมถึงเรื่องที่ถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินของแผ่นดินไปเป็นมูลค่ามหาศาล แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีใหม่มาบริหารอินโดนีเซียถึง 4 คนแล้วก็ตาม เนื่องจากทนายความของซูฮาร์โตได้ใช้อาการป่วยหนักเป็นข้ออ้างช่วยให้ซูฮาร์โตไม่ต้องมาให้การในชั้นศาลได้

ที่สำคัญ ในช่วงที่ซูฮาร์โตถูกนำตัวเข้าโรงพยาบาลครั้งหลังสุด ก็ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักในเรื่องที่ว่าสมควรจะยกฟ้องซูฮาร์โตทุกข้อกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทำให้ยังตกลงกันไม่ได้จนกระทั่งซูฮาร์โตเสียชีวิตไปในที่สุด

ถัดจากซูฮาร์โต ผู้นำจอมโกงคนถัดมา คือ อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินัน มาร์กอส ของฟิลิปปินส์ ยักยอกเงินหลวงไปมากถึง 5,000-10,000 ล้านดอลลาร์

เงินที่มาร์กอสยักยอกไปคิดเป็นสัดส่วน 1.5-4.5 % ของจีดีพีฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2515-2529 ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ย 2.39 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

มาร์กอสเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ของฟิลิปปินส์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้งเมื่อ 2512 กลายเป็นประธานาธิบดี 2 สมัยซ้อนคนแรกของชาวฟิลิปปินส์ครองอำนาจตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2508 – 25 กุมภาพันธ์ 2529

หลังจากไม่สามารถต่ออายุให้ตัวเองได้นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 มาร์กอสตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกในเดือนกันยายน 2515 โดยอ้างเหตุเรื่องความเคลื่อนไหวของขบวนการคอมมิวนิสต์ เขาจำคุกนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม สั่งปิดสื่ออิสระที่มีอยู่ทั้งหมดและปกครองประเทศภายใต้ประกาศกฎษฎีกาของประธานาธิบดี

แม้ในเวลาต่อมา มาร์กอสจะเปิดทางให้จัดตั้งรัฐสภาได้ แต่อำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่ใต้เงื้อมมือของเขาและพวกพ้อง ซึ่งรวมถึงภรรยาผู้ทะเยอทะยานที่หลงใหลความเป็นผู้นำแฟชั่น ตลอดจนสมาชิกคนอื่นๆ ในครอบครัวและเพื่อนคนสำคัญของครอบครัว ซึ่งเป็นที่มาของคำศัพท์ใหม่ที่อธิบายการตักตวงผลประโยชน์ภายในกลุ่มของมาร์กอสและบุคคลใกล้ชิดว่า “Cronyism” หรือ ทุนนิยมพวกพ้อง

ผู้นำโคตรโกงอันดับที่ 3 ได้แก่ ประธานาธิบดีโมบูตู เซเซ เซโก ของซาอีร์ ยักยอกเงินไปทั้งสิ้น 5 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2508-2540 ขณะที่อันดับ 5 คือ สโลโบดาน มิโลเซวิค อดีตผู้นำของยูโกสลาเวียเดิม ล้วนแล้วแต่ถูกกล่าวหาว่า ยักยอกเงินไปไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนั้น

อันดับ 6 เป็นของ “ฌอง-โคลด ดูวาลิเยร์” ของเฮติ ประเมินกันว่า เขายักยอกเงินเฮติไประหว่างปี 2514-2529 ประมาณ 300-800 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 1.7-4.5 % ต่อปี ซึ่งจีดีพีขณะนั้น มีมูลค่าเฉลี่ยเพียง 1.7 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

ตามด้วยอัลเบอร์โต ฟูจิโมริ ผู้นำเปรูทำสถิติคอร์รัปชันเงินประเทศไปทั้งสิ้น 600 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 0.1 % ของจีดีพี ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ย ระหว่างปี 2533 – 2543 ราว 4.45 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

อันดับ 8 เป็นของปาวิโอ ลาซาเลนโก แห่งยูเครน ปกครองประเทศ ระหว่างปี 2539-2540 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว จีดีพีของยูเครน มีมูลค่าเฉลี่ยต่อปี ประมาณ 4.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เขาคอร์รัปชั่นเงินประเทศไปราว 114-200 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 0.2-0.4 % ของจีดีพี

อันดับ 9 คือ อาร์นอลโด อะเลอมาน ยักยอกเงินนิคารากัวไประมาณ 100 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.5 % ของจีดีพี ที่มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 3.4 พันล้านดอลลาร์

ปิดท้ายด้วย อดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราด้าของฟิลิปปินส์ ติดอันดับ 10 จำนวนเงินที่ยักยอกไป 70-80 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็น 0.04 % ของจีดีพีประเทศ ระหว่างปี 2541-2544 ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 7.76 หมื่นล้านดอลลาร์

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ก็ยังมีผู้นำอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาคอร์รัปชั่น ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดีเฉิน ซุยเปียน ของไต้หวันที่ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตไปเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วในข้อหายักยอกเงินจากกองทุนประธานาธิบดีจำนวน 3,150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รับสินบนจำนวน 9 ล้านดอลลาร์ รวมไปถึงข้อหาการฟอกเงินผ่านธนาคารสวิส ปลอมแปลงเอกสาร ขณะที่ภรรยาของเฉินก็ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยในข้อหาติดสินบน

ขณะที่อดีตประธานาธิบดีโนห์ มูเฮียนของเกาหลีใต้ ที่เพิ่งกระทำอัตวินิบาตกรรม กระโดดลงมาจากหน้าผา เสียชีวิตไปเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ในระหว่างการสอบสวนคดีคอร์รัปชั่น ซึ่งเกี่ยวพันกับคนในครอบครัวคือ ภรรยาและหลานชายรับเงินสินบน ทั้งที่ตัวนายโนห์ มีภาพลักษณ์ของนักการเมืองมือสะอาด การเสียชีวิตของอดีตประธาธิบดีโนห์ กลายเป็นข่าวช็อคคนทั้งประเทศ

รัฐบาลของประธานาธิบดีกิบากิ แห่งเคนยา ใช้จ่ายเงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไปกับรถยนต์หรูหรากว่า 12.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่ ไม่ใช้ในราชการ แต่ถูกนำไปใช้ส่วนตัวโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศ เงินจำนวนดังกล่าว หากนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะสามารถก่อประโยชน์เด็กนักเรียนยากจนในเคนยา 25,000 คน ได้นานถึง 8 ปี

หรือกรณีของราอูล ซาลินาส น้องชายของอดีตประธานาธิบดีคาลอส ซาลินาส คอร์รัปชั่นเงินไปกว่า 120 ล้านดอลลาร์ ซึ่งธนาคารโลกประเมินว่า ด้วยเงินจำนวนดังกล่าว สามารถนำมาใช้จ่ายเป็นค่ารักพยาบาลให้กับชาวเม็กซิกันได้มากถึง 594,000 คน