ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ภาคการเงินปรับโฟกัสสู่ความยั่งยืน (1) : ชูไอเดีย “สินเชื่อสีเขียว”

ภาคการเงินปรับโฟกัสสู่ความยั่งยืน (1) : ชูไอเดีย “สินเชื่อสีเขียว”

29 สิงหาคม 2011


IFC ร่วมมือกับ "อินดัสเตรียล แบงก์" ประกาศใช้หลักการ Equator Principles ในปี 2551
IFC ร่วมมือกับ "อินดัสเตรียล แบงก์" ประกาศใช้หลักการ Equator Principles ในปี 2551
(ที่มาของภาพ : IFC)

ประเด็น “ความยั่งยืน” กลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงหลังๆ มานี้ เพราะโลกได้เรียนรู้บทเรียนของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมที่เน้นตัวเลขการเติบโตเป็นสำคัญ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่ตามมา

หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากขึ้น รวมถึงภาคการเงินที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะธนาคารที่นอกจากจะเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแล้ว แบงก์ยังเป็นตัวกลางจัดสรรเงินทุนให้กับธุรกิจอื่นๆ ซึ่งเท่ากับมีบทบาทสำคัญที่จะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน

เพราะในฐานะผู้ปล่อยกู้ ธนาคารมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนโครงการที่เอาใจใส่เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่คำนึงถึงเฉพาะโอกาสที่จะทำรายได้และความเสี่ยงจากการปล่อยกู้เช่นที่ผ่านมาในอดีต

นี่จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะกำหนดมาตรฐานสากลเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคมผ่านการปล่อยเงินกู้แก่โครงการต่างๆ โดยกำหนดให้ผู้ขอกู้เงินลงทุนในโครงการต่างๆ ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานที่วางไว้เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนพิจารณาปล่อยกู้

นอกเหนือจากสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ อาทิ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ที่มีการวางหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นหน่วยงานของธนาคารโลกก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ผลักดันสำนึกใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมในภาคการเงิน โดยได้กำหนดหลักการ “Equator Principles” เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการปล่อยสินเชื่อสีเขียวตามความสมัครใจของสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ขอกู้ ผู้ปล่อยกู้ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นที่โครงการต่างๆ จะเข้าไปดำเนินการ

หลักการ Equator Principles เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2546 สำหรับเป็นมาตรฐานในการดำเนินการปล่อยกู้แก่โครงการลงทุนที่มีมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม นับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน ปี 2554 มีสถาบันการเงินเข้าร่วมใช้หลักการ Equator Principles รวม 72 แห่ง จาก 27 ประเทศ จากจุดเริ่มต้นที่มีสมาชิกเข้าร่วมเพียง 10 แห่ง

หลักการ Equator Principles มีกฎทองอยู่ 10 ข้อ

1. การตรวจสอบและจำแนกประเภท เมื่อโครงการยื่นขอกู้ ธนาคารจะพิจารณาการดำเนินการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจำแนกประเภทโครงการตามผลกระทบและความเสี่ยงที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ A=โครงการที่มีความเป็นไปได้ว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม B=โครงการที่ส่งผลกระทบจำกัดและ C=โครงการที่ส่งผลกระทบน้อยหรือไม่มีผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

2. การประเมินด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการที่ถูกจัดอยู่ในประเภท A และ B ผู้ขอกู้จะต้องประเมินผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมาตรการลดและบริหารจัดการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

3. มาตรฐานสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการที่ขอกู้เงินจะต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ IFC อาทิ มาตรฐานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แรงงาน มลภาวะ สุขภาพและความปลอดภัยของชุมชน การถือครองที่ดิน การปกป้องความหลากหลายของทรัพยากร ชนพื้นเมืองและด้านวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีกรอบเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัย สำหรับแต่ละอุตสาหกรรม ที่สำคัญจะต้องเป็นไปตามกฎระเบียบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศด้วย

4. แผนปฏิบัติการและระบบบริหารจัดการ โครงการที่ถูกจัดอยู่ในประเภท A และ B จะต้องเตรียมแผนปฏิบัติการที่มีการกำหนดและจัดลำดับความสำคัญของมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการกับผลกระทบและความเสี่ยงจากโครงการ

5. การให้คำปรึกษาและการเปิดเผยข้อมูล สำหรับโครงการในกลุ่ม A และ B ทั้งรัฐบาล ผู้ขอกู้ และผู้เชี่ยวชาญจะร่วมให้คำปรึกษาแก่โครงการที่ส่งผลต่อชุมชนทั้งในแง่โครงสร้างและวัฒนธรรม ซึ่งเอกสารการประเมินและข้อมูลที่ไม่ใช่เชิงเทคนิคจะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน

6. กระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์ โครงการในประเภท A และ B จะต้องเปิดกว้างสำหรับคำแนะนำ การเปิดเผยข้อมูล และการเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมตลอดการก่อสร้างและดำเนินโครงการ โดยผู้ขอกู้จะต้องประเมินความเสี่ยงและผลกระทบจากโครงการ จัดตั้งกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารจัดการและต้องมีการแก้ไขข้อกังวลต่างๆ อย่างทันท่วงที โปร่งใส และเหมาะสมกับวัฒนธรรมของชุมชน

7. การตรวจสอบอย่างอิสระ โครงการประเภท A และ B ควรจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ามาตรวจสอบอย่างเป็นอิสระ โดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้ขอกู้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลัก Equator Principles

8. ข้อตกลงร่วมกัน สิ่งที่เป็นจุดแข็งของหลักการนี้ คือ การเข้าร่วมในข้อตกลง ซึ่งโครงการประเภท A และ B ผู้ขอกู้จะต้องทำสัญญาที่จะปฏิบัติตามกฎหมายด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกฎระเบียบต่างๆ รวมทั้งถึงปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการในระหว่างก่อสร้างและดำเนินการ หากผู้ขอกู้ไม่สามารถทำตามสัญญาได้ สถาบันการเงินที่ใช้หลัก Equator Principles สามารถร่วมมือกับผู้ขอกู้เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลง แต่ถ้าผู้ขอกู้ไม่สามารถปฏิบัติตามได้ สถาบันการเงินสามารถสงวนสิทธิ์และปฏิบัติตามที่เห็นสมควร

9. ผู้ตรวจสอบและรายงานที่เป็นอิสระ ตลอดระยะเวลาการกู้ยืม ผู้ขอกู้ในโครงการประเภท A และ B ต้องนัดหมายผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อควบคุมคุณภาพให้เป็นไปตามที่กำหนด

10. ข้อนี้สำหรับสถาบันการเงินที่ยึดหลักการ Equator Principles ต้องทำ นั่นคือการรายงานให้สาธารณชนได้รับทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการและผลสำเร็จของการใช้ Equator Principles อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ในบรรดาสถาบันการเงิน 72 แห่งที่ใช้หลักการ Equator Principles เฉพาะในเอเชียมีเพียงญี่ปุ่นและจีนที่เริ่มบุกเบิกแนวทางสินเชื่อสีเขียวกันบ้างแล้ว โดยในญี่ปุ่นมี “แบงก์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ” “มิซูโฮ คอร์ปอเรต แบงก์” และ “ซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น” ส่วนในจีน คือ “อินดัสเตรียล แบงก์” (IB)

สำหรับในไทยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการเงินเข้าร่วมใช้หลักการ Equator Principles ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ IFC ได้จับมือกับสมาคมธนาคารไทยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ไอเดียนี้และแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้จากสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ลงมือทำไปแล้วเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงินของไทยหันมาใส่ใจสินเชื่อสีเขียวมากขึ้น