ThaiPublica > คนในข่าว > หมอ “เกษม วัฒนชัย” แนะซีเอสอาร์ต้องมีทั้งกายและวิญญาณ

หมอ “เกษม วัฒนชัย” แนะซีเอสอาร์ต้องมีทั้งกายและวิญญาณ

30 กรกฎาคม 2011


เกษม วัฒนชัย
เกษม วัฒนชัย ที่มาภาพ : http://media.thaigov.go.th/Sitedirectory/471/1782/24405_1.jpg

การเข้าถึงบริการสาธารณะสุขและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของภาครัฐ ปกติทั่วไปก็เป็นเรื่องยากลำบากอยู่แล้ว ด้วยคนไข้ที่มีจำนวนมาก ขณะที่แพทย์ พยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ห้องพักผู้ป่วย มีไม่เพียงพอ การให้บริการจึงไม่ทั่วถึง

ขณะเดียวกันการให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรัฐส่วนใหญ่ต้องรับภาระหนักอยู่แล้ว บางโรงพยาบาลรับคนไข้นอกแต่ละวันสูงมาก อย่างโรงพยาบาลสวนดอก หรือโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่ มีจำนวนถึง 3,000 คนต่อวัน

ขณะที่หน้าที่ของข้าราชการคือการให้บริการภาคประชาชน ต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางในการให้บริการ (Citizen Centric) เพื่อให้เขาเข้าถึงบริการสาธารณะสุขที่ง่ายและสะดวกขึ้น และเป็นการป้องกันให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดีได้ด้วย

การออกหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่จึงเป็นทั้งการให้บริการสาธารณะสุขและการให้บริการรักษาพยาบาลไปพร้อมๆ กัน เป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ไม่ได้มีแต่เจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม ทันตแพทย์ แต่ยังมีผู้จิตอาสาอื่นๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมมาเป็นคนขับรถ เป็นช่างตัดผม คนรับลงทะเบียนคนไข้และฝายสนับสนุนต่างๆ ที่ออกไปให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล เดินทางไม่สะดวก อาทิ ในพื้นที่บนดอย หรือแม้แต่ในพื้นที่ราบที่มองว่าน่าจะเข้าถึงได้ง่ายบางครั้งก็ถูกมองข้ามไปเช่นกลุ่มพระสงฆ์

“จิตอาสา”เป็นกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ในเกือบทุกองค์กร ไม่ว่าภาครัฐหรือเอกชน และเป็นกิจกรรมที่คน GenY ใช้เป็นตัวตัดสินใจในการเลือกเข้าทำงานกับองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ น.พ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรีได้เริ่มงานจิตอาสามานานมากับโครงการกลุ่มประชาอาสาเพื่อสนับสนุนโครงการหลวง ในสมัยที่นั่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในการตรวจ รักษา และช่วยเหลือประชาชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งหมอ พยาบาลและกลุ่มประชาชนที่ช่วยกันออกหน่วย โครงการนี้เริ่มออกตรวจตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2529 จนมาถึงเดือนธันวาคม 2552 รวมระยะเวลาในการทำกิจกรรมนี้ 23 ปี ออกหน่วยทั้งหมด 283 ครั้ง และได้ส่งมอบโครงการนี้ให้ รศ.นพ. นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยสานต่อโครงการนี้ได้กล่าวว่าเป็นโครงการที่ดีมาก มีความสุขทั้งผู้รับและผู้ให้

“กิจกรรมในการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ของคณะแพทย์ฯ ส่วนใหญ่ก็จะคล้ายกับกลุ่มประชาอาสาฯ ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว แต่มีเพิ่มเติมการรักษาเข้าไป เช่น เรื่องการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก ด้วยการฝังเข็ม และนอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้การสนับสนุน ด้วยการส่งอาจารย์จากคณะบัญชีมาแนะนำ ให้ความรู้เรื่องบัญชีรายรับ-รายจ่ายกับประชาชนผู้มารับบริการการตรวจหรืออยู่ในละแวกนั้นอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีการสนับสนุนช่วยเหลือในการบริจาคของใช้ต่างๆ ร่วมกับทางคณะแพทย์ฯ อีกด้วย”

น.พ. เกษม ได้ให้ความเห็นว่าในต่างประเทศมีการทำเรื่องจิตอาสา จิตสาธารณะเยอะมาก ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น เพราะเราจะพึ่งพารัฐทุกอย่างไม่ได้ ดังนั้นพยายามดึงอำนาจจากรัฐให้ประชาชนบริหารจัดการกันเอง

“ตอนนี้มีภาคส่วนที่เป็นประชาชน เอ็นจีโอ ข้าราชการ นักธุรกิจ มาช่วยกัน และจะสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่อังกฤษ อเมริกา งานจิตอาสาได้พัฒนาไปสู่รูปแบบโซเชี่ยล เอ็นเตอร์ไพรซ์ เพื่อมีเงินมาทำงานสาธารณะได้เต็มที่ ผู้ถือหุ้นคือคนที่ก่อตั้งและประชาชน รายได้ทุกอันมาเพื่อประชาชน ในอังกฤษรัฐช่วยเต็มที่ ผมว่าเราต้องช่วยกันสร้างธุรกิจเพื่อสังคม”

ตัวอย่างที่ดีที่มหาเศรษฐีของโลกตั้งมูลนิธิทำซีเอสอาร์ อย่าง บิล เกตส์ ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่เงินทุกบาททุกสตางค์จะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่ง บิล เกตส์ ทำได้ ใครที่ขอเงินมาที่มูลนิธิฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญศึกษาโครงการนั้นว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนจริงไหม

บิล เกตส์ ตั้งใจทำ 2 เรื่อง คือ 1. ลดความสูญเสียกับโรคติดเชื้อที่รุนแรงและช่วยชีวิตคนให้มากที่สุด เขาเลือกมาลาเรีย กับเอดส์ แต่จะเป็นที่ไหนอย่างไรจะส่งคนไปดู ไปศึกษา และทำอย่างเต็มที่ นี่เป็นวิธีทำบุญให้ถึงประชาชนที่แท้จริง

อันที่สองคือการใช้เงินเชิงพัฒนา อย่างประเทศ เปรู เสนอว่าโรงเรียนไม่มีไอซีที ทางมูลนิธิบิลเกตส์ส่งผู้เชี่ยวชาญไปดู ลงทุนให้ทั้งประเทศ ของเราก็เคยขอความช่วยเหลือไป เขาส่งผู้เชี่ยวชาญมาพบรัฐมนตรี เขาบอกว่าไม่มาอีกแล้ว บอกว่าของเราพูดไม่รู้เรื่อง และไม่ได้ทำเพื่อประชาชน

“อีกคนคือ วอร์เรน บัพเฟตต์ เป็นคนที่น่าสนใจมาก เขาบอกว่าเงินที่หามาเป็นของสังคม ไม่ใช่ของเขา เขาต้องเอาไปให้กับสังคม ตั้งเป็นมูลนิธิขึ้นมา อยู่มาเขาบอกว่าเงินของเขาใช้ไม่คุ้มค่า ของมูลนิธิบิลเกตส์ ใช้คุ้มค่ากว่า ปีนั้นเขายกกำไรให้มูลนิธิ บิล เกตส์”

“ขณะนี้ 2 คนนี้กำลังเป็นตัวอย่างของเศรษฐีใหม่ในจีน อินเดีย มหาเศรษฐีจีน อินเดียพยายามตั้งมูลนิธิ พยายามใช้เงินทำเหมือน 2 คนนี้ เราไม่จำเป็นต้องให้ตัวเองมาก อันนี้ความคิดของวอร์เรน และเราไม่จำเป็นต้องให้ลูกมาก เราควรจะแบ่งให้สังคมให้หมด นี่ความเห็นบิลเกตส์”

ตอนนี้เศรษฐีทั้ง 2 จีน อินเดีย กำลังทำอยู่ แต่ของไทยผมยังไม่เห็นมหาเศรษฐีใครทำอย่างนี้ และไม่ค่อยเรียนรู้ ผมมองว่าเราจะต้องใช้เงินให้คุ้มค่า บ้านเรายังมีปัญหาทางสังคมที่ยังต้องช่วยกันอีกมาก ทำอย่างไรจะให้เศรษฐีเมืองไทยคิดอย่างวอร์เรน และบิลเกตส์

พร้อมกันนี้ น.พ. เกษมให้ความเห็นว่า “ซีเอสอาร์” ในองค์กร ไม่ว่าเป็นภาครัฐ เอ็นจีโอ สื่อ ในแง่การบริหารองค์กรจะแบ่งเป็น “กาย” กับ “วิญญาณ” กายคือองค์กรต้องมีธรรมาภิบาล เน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งเน้นความรับผิดความรับชอบ เพราะฉะนั้นไม่ว่าองค์กรใดๆ หากเน้นเรื่องนี้ จะทำให้องค์กรยั่งยืน มั่นคง อยู่ได้นาน

“ผมคิดว่าเรื่อง “กาย” ต้องมีโครงสร้างธรรมาภิบาล ทุกคนในองค์กรต้องรับผิดชอบ ไม่ว่าบอร์ด ผู้บริหาร กรรมการนโยบาย ผู้ปฏิบัติทั้ง 3 ระดับนี้ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ตัวเอง จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปอย่างเข้มแข็ง”

ส่วน “วิญญาณ” คือความรับผิดชอบต่อสังคม ฟังดูอาจจะต้องขยายความ ถ้าเป็นองค์กรของรัฐ ก็บอกว่าก็รับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้ว แต่ยังไม่พอ ความรับผิดชอบต่อสังคมหมายความว่าการกำหนดนโยบายของรัฐ การจัดสรรทรัพยากรของรัฐ การปฏิบัติจริงของรัฐต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน

ถ้าท่านมีหน้าที่ดูแลน้ำของแผ่นดิน ท่านต้องตอบให้ได้ว่าโครงการที่นำเสนอเพื่อของบประมาณ ต้องตอบได้ว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนต่อที่ไหนบ้าง และจะไม่มีรั่วไหลไปที่ไหนเพราะมีโครงสร้างธรรมาภิบาลคอยกำกับไว้

“ความรับผิดชอบของสังคมเป็นวิญญาณ ก็คือว่าในการกำหนดนโยบายบริษัท หรือการผลิตสินค้าหรือบริการ ต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะฉะนั้นการดำเนินการของบริษัท จะไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมเกิดมลภาวะ หรือการผลิตสินค้าหรือบริการที่ออกมา จะไม่หลอกประชาชน นี่คือความรับผิดชอบต่อสังคม เพราะฉะนั้น ซีเอสอาร์ไม่ได้หมายถึงบรรทัดสุดท้ายที่กำไรเท่านั้น เริ่มตั้งแต่คิดจะจัดตั้งบริษัท ต้องคิดถึงความรับผิดชอบทางสังคมตั้งแต่แรกเลย จึงจะได้ครบถ้วน”

หรือแม้แต่เอ็นจีโอ แม้จะบอกว่าทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้วก็ตาม ทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว ..ไม่ใช่ ผมมองว่า ในการกำหนดโครงการ กำหนดกิจกรรม หรือการใช้จ่ายเงิน หากองค์กรเอ็นจีโอใช้ ให้โครงสร้างธรรมาภิบาลในการบริหาร แล้วเป้าหมายอยู่ที่ความรับผิดชอบต่อสังคม ผมว่าเอ็นจีโอก็จะมั่นคง ใครก็อยากจะช่วยเหลือเอ็นจีโอ

“เพราะฉะนั้นซีเอสอาร์ต้องไปร่วมกับโครงสร้างธรรมาภิบาล อันหนึ่งเป็นกาย อันหนึ่งเป็นจิตวิญญาณ ถ้าไปด้วยกันได้ก็จะสวยมาก”